ผู้นำฝรั่งเศสคัดค้านตั้งสำนักงานนาโตในญี่ปุ่น

ประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส คัดค้านการผลักดันของนาโตให้เปิดสำนักงานประสานงานในญี่ปุ่นเพียงเพื่อต้องการขัดขวางอิทธิพลจีน

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ซ้าย) และเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต (Photo by Emmanuel DUNAND / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพันธมิตรทางทหารตะวันตกที่มีหัวหอกนำโดยสหรัฐฯ ได้มองหาการยกระดับความร่วมมือกับประเทศประชาธิปไตยในฝั่งเอเชียแปซิฟิก เพราะกังวลในอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน

เป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว ที่ผู้นำของออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำของนาโต

นาโตวางแผนขยายพันธมิตรฝั่งเอเชียแปซิฟิกด้วยการเปิดสำนักงานประสานงานในกรุงโตเกียวเพื่อช่วยปรับปรุงความร่วมมือกับญี่ปุ่น

แต่ฝรั่งเศสได้คัดค้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยยืนยันว่านาโตควรมุ่งเน้นไปที่ขอบเขตความรับผิดชอบในการปกป้องพื้นที่เฉพาะยูโร-แอตแลนติก

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวหลังการประชุมสุดยอดผู้นำนาโตในลิทัวเนียว่า "อินโด-แปซิฟิกไม่ใช่แอตแลนติกเหนือ ดังนั้นเราต้องไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่านาโตกำลังสร้างความชอบธรรมและสถานะทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่อื่นๆเกินขอบเขต"

การที่มาครงปฏิเสธเช่นนั้น ทำให้บรรดาผู้นำในกลุ่มพันธมิตรจากหลายประเทศต้องขุ่นข้องหมองใจไม่น้อย

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ยืนยันหลังจากพบปะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า แผนการเปิดสำนักงานประสานงานยังคงไม่ล้มเลิก

เขากล่าวว่าพันธมิตรกำลังมองหาหนทางที่จะกระชับความร่วมมือกับรัฐบาลโตเกียวในด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการเดินเรือ

สโตลเทนเบิร์กกล่าวว่า การประชุมของนาโตกับพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกแสดงให้เห็นว่า "ความมั่นคงที่จำเป็นไม่ใช่เพียงความมั่นคงในระดับภูมิภาค แต่เป็นระดับโลก ดังนั้นเราต้องยืนหยัดร่วมกันอย่างแท้จริง และการลงทุนอย่างมหาศาลของจีนในขีดความสามารถทางทหารล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า การขยายความร่วมมือนั้นจำเป็นเพียงใด"

"เราคาดว่าภายในปี 2578 จีนจะมีหัวรบนิวเคลียร์ 1,500 ลูกบนขีปนาวุธที่สามารถเข้าถึงอเมริกาเหนือและยุโรป รวมถึงดินแดนของนาโตได้ทั้งหมด" สโตลเทนเบิร์กกล่าว

เขาทิ้งท้ายว่า "นี่ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นที่น่ากังวลว่านาโตจะกลายเป็นพันธมิตรทางทหารระดับโลก แต่มันเกี่ยวกับการตระหนักว่าภูมิภาคนี้เผชิญกับความท้าทายระดับโลก และการผงาดขึ้นของจีนก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้น"

สหรัฐฯ กดดันพันธมิตรยุโรปในนาโตมานานแล้วให้แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับจีน ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันมองว่าเป็นคู่แข่งชั้นนำของโลก

ในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันอังคาร บรรดาผู้นำแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างรัสเซียและจีน" พวกเขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งใช้อิทธิพลของตนเพื่อกล่อมให้รัฐบาลมอสโกยุติสงครามกับยูเครนโดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โอลิมปิคส์กับนโยบายเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาครง

ผมนั่งเชียร์กีฬาโอลิมปิคส์อยู่ที่บ้านแล้วอดที่จะคิดถึงมิติการเมืองระหว่างประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญหน้าประธานาธิบดีมาครงไม่ได้