รัฐมนตรีคลังสหรัฐเดินทางถึงกรุงปักกิ่งเมื่อวันพฤหัสบดี ในการเยือนที่มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการสื่อสารและรักษาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ในการเยือนที่มุ่งเป้าปรับปรุงการสื่อสารและรักษาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (Photo by Mark Schiefelbein / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา เดินทางถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ถือเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลวอชิงตัน ต่อจากแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ
เยลเลนมาถึงปักกิ่งหลังเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (16.00 น. ตามเวลาประทศไทย) และได้รับการต้อนรับจากนิโคลัส เบิร์นส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน และหยาง หยิงหมิง เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของจีน
การเยือนครั้งนี้จะทำให้เยลเลนสามารถขยายช่องทางการติดต่อสื่อสารเพื่อหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ผิดพลาดของสองมหาอำนาจ และขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจโลก, การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และประเด็นอื่นๆ ตามข้อมูลเผยแพร่จากเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐ
ในภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจเป็นโอกาสอันดีที่เจ้าหน้าที่ทั้งสองชาติจะได้พูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของประเทศตน
"ข้อเท็จจริงที่ว่าเยลเลนใช้เวลาถึง 4 วันในกรุงปักกิ่งท่ามกลางแรงกดดันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยิ่งตอกย้ำว่าเธอให้ความสำคัญต่อการเยือนครั้งนี้" เวนดี คัทเลอร์ รองประธานสถาบันนโยบายสังคมแห่งเอเชียกล่าวกับเอเอฟพี
"และในขณะที่แต่ละฝ่ายคงมีรายการข้อร้องเรียนจำนวนมากที่จะหยิบยกขึ้นมาหารือกับอีกฝ่าย การเยือนครั้งนี้อาจทำให้เยลเลนสามารถวางรากฐานที่เหมาะสมสำหรับการทำงานร่วมกันในอนาคตได้" คัทเลอร์กล่าวเสริม
"การเดินทางของรัฐมนตรีคลังยังคงเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการปรับกรอบความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่งทั้งทางการทูตและในด้านอื่นๆ รวมทั้งจัดการขอบเขตใหม่ของการแข่งขันเชิงกลยุทธ์" ลินด์เซย์ กอร์แมน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทุนมาร์แชลแห่งเยอรมนีของสหรัฐฯ กล่าว
รายละเอียดกำหนดการของเยลเลนยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าเธออาจเข้าหารือกับเหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านนโยบายเศรษฐกิจ
ความตึงเครียดของสองมหาอำนาจยังคงอยู่ในประเด็นเศรษฐกิจหลายประการ รวมถึงแผนการของคณะบริหารในรัฐบาลโจ ไบเดน ที่มุ่งจำกัดการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีละเอียดอ่อนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจีน
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯจะย้ำว่ารัฐบาลวอชิงตันไม่ได้ต้องการเป็นปฏิปักษ์กับจีน แต่กำลังพยายาม "ลดความเสี่ยง" แทน ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ ตามที่กล่าวหรือไม่.