มาครงเสนอแนะ ลงโทษปรับผู้ปกครองเด็กก่อจลาจล

ผู้นำฝรั่งเศสหยิบยกแนวคิดที่ลงโทษปรับผู้ปกครองของเด็กที่ถูกจับได้ว่ากระทำการป่าเถื่อนหรือปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตอบโต้ของรัฐบาลต่อเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน

กลุ่มผู้ประท้วงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสที่ใช้แก๊สน้ำตาตอบโต้ ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม (Photo by Ludovic MARIN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 4 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เสนอแนวคิดให้ใช้กฏหมายเล่นงานบรรดาผู้ปกครองของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ออกมาก่อจลาจลด้วยการปล้นสะดมร้านค้าและทำลายทรัพย์สินทั้งของรัฐและเอกชน

จากเหตุประท้วงกรณีตำรวจยิงสังหารวัยรุ่ยชายเสียชีวิตจนนำไปสู่การก่อจลาจลรุนแรงทั่วฝรั่งเศสตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุมไปแล้ว 4,000 คน โดยกว่า 1,200 คนเป็นเยาวชน ตามรายงานของกระทรวงยุติธรรม

มาครงเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงปารีสเมื่อเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา และขอบคุณพวกเขาสำหรับการทำงานอย่างหนัก พร้อมเสนอแนวคิดที่จะลงโทษบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่สามารถควบคุมลูกหลานได้

"สำหรับการก่ออาชญากรรมครั้งแรก เราต้องหาทางลงโทษครอบครัวผู้ก่อเหตุเหล่านั้นทางด้านการเงินโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟ้องร้อง" มาครงกล่าว

ประมุขแห่งรัฐวัย 45 ปีกล่าวอีกว่า "มันจะเป็นราคาขั้นต่ำที่ต้องจ่ายสำหรับความผิดพลาดครั้งแรก"

เมื่อเกิดการจลาจลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มาครงได้ขอร้องให้ผู้ปกครองควบคุมลูกหลานของพวกเขาให้ดี ไม่ให้ออกไปก่อเหตุผิดกฏหมายโดยเจตนา

ทั้งนี้ มีรายงานว่าในบรรดาผู้ก่อเหตุที่เป็นเยาวชนและถูกตำรวจจับกุม มีรายหนึ่งที่มีอายุเพียง 12 ปี 

"เป็นความรับผิดชอบของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องเลี้ยงดูบุตรหลานไว้ที่บ้าน" มาครงกล่าว และเสริมว่า "ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะทำหน้าที่แทนพวกเขา"

เอริค ดูปองด์-มอเร็ตติ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของฝรั่งเศส เน้นย้ำข้อความเดียวกันนี้เมื่อวันศุกร์ และอธิบายว่าพ่อแม่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อลูกของตนอย่างไร รวมถึงการหลบเลี่ยงไม่พาลูกหลานที่ทำผิดมาขึ้นศาลก็มีความผิดและอาจโดนลงโทษปรับเงินได้

นอกจากนี้ บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องรับผิดชอบทางการเงินสำหรับความเสียหายใด ๆ ที่เหยื่ออาชญากรรมได้รับจากพฤติการณ์ของเด็กที่ก่อเหตุ

ภายใต้คำแนะนำทางกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี อัยการต้องพิจารณาใช้มาตรา 227-17 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดให้มีโทษปรับผู้ปกครองอยู่แล้ว

โดยค่าปรับสูงสุดที่กฏหมายกำหนดอยู่ที่ 30,000 ยูโร (ประมาณ 1.14 ล้านบาท) และโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี สำหรับผู้ปกครองที่ "ไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันทางกฎหมายโดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมจนถึงขอบเขตของการประนีประนอมต่อสุขภาพ ความปลอดภัย ศีลธรรม และการศึกษาของบุตรแห่งตน".

เพิ่มเพื่อน