กฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฉบับใหม่จะช่วยต่อต้าน "การบูลลี่" จากต่างประเทศ หลังจากที่รัฐบาลปักกิ่งอนุมัติกฎหมายที่ระบุว่าจะเพิ่มอำนาจในการตอบโต้การคว่ำบาตร
หวังอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Photo by Alexander NEMENOV / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า รัฐบาลจีนเคลื่อนไหวด้านกฏหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อรับมือ 'การบูลลี่' และตอบโต้การถูกคว่ำบาตร
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรบริษัทและบุคคลจีนจำนวนมาก โดยกล่าวหาว่าพวกเขามีส่วนรู้เห็นในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธอย่างหนักแน่นมาตลอด
มาตรการคว่ำบาตร โดยเฉพาะการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญที่จำเป็นสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลกระทบต่อบริษัทจีนบางแห่งอย่างหนัก ถึงขั้นบีบให้ต้องลดงานและหยุดแผนขยายธุรกิจ
สภานิติบัญญัติสูงสุดของจีนผ่านกฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมื่อวันพุธ ซึ่งกำหนดหลักการสำคัญและจุดยืนทางการทูตระหว่างประเทศของรัฐบาล และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม
"กฎหมายระบุอย่างชัดเจนถึงการต่อต้านความเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและการกลั่นแกล้ง" หวังอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขียนในบทความที่เผยแพร่ในสื่อทางการเมื่อวันพฤหัสบดี
"นี่คือมาตรการสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ในการรวมศูนย์ความเป็นผู้นำด้านกิจการต่างประเทศ" หวังอี้ ระบุ
"นอกจากนี้ยังจะช่วยกำหนดพื้นฐานทางกฎหมายแก่สาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับการใช้อำนาจที่ถูกต้องในการต่อต้านการคว่ำบาตรและการแทรกแซง"
"ในช่วงเวลาที่เผชิญกับความท้าทายรุนแรง เราต้องรักษาศักยภาพเชิงกลยุทธ์ของเราไว้ และใช้อาวุธแห่งหลักนิติธรรมอย่างช่ำชองเพื่อเพิ่มพูนและปรับปรุงเครื่องมือทางกฎหมายของเราอย่างต่อเนื่องในการต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจ" เขากล่าวทิ้งท้าย
มอริตซ์ รูดอล์ฟ นักวิชาการด้านการวิจัยของสหรัฐอเมริกา กล่าวกับเอเอฟพีว่า การปัดป้องการคว่ำบาตรจากต่างชาติเป็น "เพียงด้านเดียว" ของกฎหมายที่ทำให้รัฐบาลปักกิ่งมีพื้นที่กว้างสำหรับการตีความเกี่ยวกับวิธีการนำสนธิสัญญาระหว่างประเทศไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศตนเอง
"กฎหมายอาจถูกใช้เพื่อปกป้องตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ (จีน) ไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศในนามของอำนาจอธิปไตย, ความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์สาธารณะ"
"นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังเป็นเวทีให้รัฐบาลปักกิ่งใช้กฎหมายภายในประเทศนอกเหนือพรมแดนได้ในที่สุด" รูดอล์ฟกล่าว
ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน และโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนก่อน เรียกรัฐบาลปักกิ่งว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อความเป็นอันดับหนึ่งของโลกในระยะยาวของสหรัฐฯ
ไบเดนปฏิบัติตามแนวทางของทรัมป์เป็นส่วนใหญ่ ในการคว่ำบาตรหน่วยงานของจีนที่มักถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจอธิปไตยในหลายๆกรณี
รัฐบาลปักกิ่งประณามการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าผิดกฎหมาย และตอบโต้ด้วยบทลงโทษที่พุ่งเป้าไปที่ธุรกิจและนักการเมืองอเมริกัน
กระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า กฎหมายใหม่นี้ "แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบของจีนอย่างเต็มที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างแน่วแน่".