โรฮีนจาฟ้องเฟซบุ๊ก 5 ล้านล้าน กระพือความเกลียดชังในเมียนมา

กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจากเมียนมาให้บริษัทกฎหมายอเมริกันยื่นฟ้องต่อบริษัท เมตาแพลตฟอร์ม อิงก์ เจ้าของเฟซบุ๊ก เรียกค่าเสียหาย 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.05 ล้านล้านบาท กล่าวโทษโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่แห่งนี้ไม่ดำเนินการกับถ้อยคำเกลียดชังต่อต้านโรฮีนจาที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในเมียนมา

ผู้ลี้ภัยโรฮีนจารวมตัวกันในค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง เมื่อ 25 ส.ค. 2561 ในวันรำลึกครบรอบ 2 ปีวิกฤติรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ที่ทำให้พวกเขาต้องหนีออกจากเมียนมาเข้าบังกลาเทศ (Getty Images)

รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2564 กล่าวว่า บริษัท เอเดลสัน พีซี และฟีลส์ พีแอลแอลซี เป็นตัวแทนผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจายื่นฟ้องดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อศาลสหรัฐในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันจันทร์ที่่ผ่านมา ระบุว่า บริษัท เมตาแพลตฟอร์ม อิงก์ ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของเฟซบุ๊ก ล้มเหลวในการตรวจตราเนื้อหา และการออกแบบของแพลตฟอร์ม ส่งผลต่อความรุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริงที่ชุมชนชาวโรฮีนจาต้องเผชิญ

คำร้องกล่าวว่า อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กส่งเสริมการบิดเบือนข้อมูลและความคิดสุดโต่งที่แปลเป็นความรุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริง อัลกอริทึมที่ขับเคลื่อนเฟซบุ๊กผลักดันให้ผู้ใช้ที่หัวอ่อนเข้าร่วมกลุ่มที่มีความคิดรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เปิดกว้างต่อการแสวงหาประโยชน์โดยพวกนักการเมืองและระบอบเผด็จการ

เฟซบุ๊กเคยยอมรับว่า พวกเขาดำเนินการช้าไปในการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลและความเกลียดชังในเมียนมา แต่บอกว่าพวกเขาได้ดำเนินการปราบปรามการใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กในทางมิชอบแล้ว รวมถึงการห้ามกองทัพเมียนมาใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

สหรัฐมีกฎหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตมาตรา 230 ที่ปกป้องบริษัทโซเชียลมีเดียเช่นเฟซบุ๊ก จากความรับผิดต่อเนื้อหาที่โพสต์โดยผู้ใช้งานหรือบุคคลที่สาม แต่คำร้องของผู้ลี้ภัยโรฮีนจากล่าวว่า พวกเขาต้องการให้ศาลใช้กฎหมายของเมียนมาในการพิจารณาคดี หากจำเลยอ้างมาตรา 230

ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ถึงแม้ศาลสหรัฐจะสามารถใช้กฎหมายของต่างประเทศในการพิจารณาคดีที่เกิดการกระทำความผิดในประเทศอื่น แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีคดีใดที่ประสบความสำเร็จในการใช้กฎหมายต่างชาติกับบริษัทโซเชียลมีเดียที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรา 230

มีชาวโรฮีนจามากกว่า 730,000 คนในรัฐยะไข่ของเมียนมาหนีความรุนแรงจากการปราบปรามของกองทัพเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ข้ามแดนเข้าบังกลาเทศ พร้อมคำกล่าวหาว่ามีการสังหารหมู่และข่มขืน กลุ่มสิทธิหลายกลุ่มบันทึกเหตุการณ์เข่นฆ่าพลเรือนและเผาทำลายหมู่บ้านหลายแห่ง แต่ทางการเมียนมาปฏิเสธคำกล่าวหาเหล่านี้ อ้างว่าทหารปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ

รายงานของกรรมการสอบสวนสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2561 กล่าวว่า การใช้เฟซบุ๊กมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ถ้อยคำเกลียดชังที่กระพือความรุนแรง ปีเดียวกันการสอบสวนของรอยเตอร์เองพบว่า มีตัวอย่างโพสต์, ความเห็น และรูป มากกว่า 1,000 โพสต์ที่โจมตีชาวโรฮีนจาและชาวมุสลิมบนเฟซบุ๊ก

ศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดการสอบสวนคำกล่าวหาอาชญากรรมในภูมิภาคนั้น และเมื่อเดือนกันยายน ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐสั่งให้เฟซบุ๊กเปิดเผยข้อมูลบัญชีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อต้านโรฮีนจาในเมียนมาที่ถูกเฟซบุ๊กปิดบัญชีไปแล้ว

คำฟ้องแบบกลุ่มของโรฮีนจายังอ้างอิงคำกล่าวหาของฟรานเซส เฮาเกน อดีตลูกจ้างผู้เปิดโปงเฟซบุ๊ก โดยนำเอกสารภายในออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ที่ระบุว่า เฟซบุ๊กไม่ตรวจสอบเนื้อหาล่วงละเมิดในประเทศต่างๆ ที่ถ้อยคำเหล่านั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง ในคำให้การต่อสภาคองเกรสเมื่อเดือนตุลาคม เฮาเกนกล่าวโทษเฟซบุ๊กว่า กำลังกระพือความรุนแรงทางชาติพันธุ์ในบางประเทศ

คำร้องยังอ้างรายงานข่าวหลายชิ้นในช่วงที่ผ่านมา ที่ว่าทหารเมียนมาใช้บัญชีโซเชียลมีเดียปลอมในการดำเนินการในสิ่งที่ทหารเรียกว่า "การสู้รบข้อมูลข่าวสาร".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ นำยึด 'โทลูอีน' สารตั้งต้นยาเสพติด ล็อตใหญ่ 90 ตัน

'เศรษฐา' ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบับ นำยึด 'โทลูอีน' สารตั้งต้นยาเสพติดล็อตใหญ่กว่า 90 ตัน พบต้นทางเกาหลีใต้ปลายทางเมียนมา กำชับ ตร. ดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ หลังเกิดเหตุปะทะ อ.เชียงดาว

ฮือฮา! ทุเรียนลูกละ 1 บาท แห่รับบัตรคิวแน่นตลาด

ตลาดมหาชัยไนท์ต้นสน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้จัดมหกรรมทุเรียน ระหว่างวันที่ 4 - 7 กรกฎาคม 2567 สร้างความฮือฮาให้กับผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาด

'ตำรวจไซเบอร์' เปิดปฏิบัติการ! ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน ตั้งฐานเชียงใหม่

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.), พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท.