สหภาพยุโรปขยับเข้าใกล้ก้าวแรกในการเปิดตัวสกุลเงินยูโรแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นข้อถกเถียงและถูกตั้งคำถามมาตลอดโดยนักการเมืองและนักธนาคาร
สำนักงานใหญ่ธนาคารกลางยุโรป (The European Central Bank - ECB) ในนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี (Photo by Daniel ROLAND / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า ธนาคารกลางมากกว่า 100 แห่งทั่วโลกกำลังสำรวจหรือเตรียมพร้อมวางระบบสำหรับรองรับสกุลเงินดิจิทัล ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตขึ้นในยุคปัจจุบันและอนาคต
ความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างระบบเงินตราสกุลเดียวแบบดิจิทัล เริ่มขึ้นในปี 2563 เมื่อคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เสนอแนวคิดนี้ และหน่วยงานในแฟรงก์เฟิร์ตของเธอได้เปิดตัวเป็นโครงการเพื่อสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ จนมีความคืบหน้าถึงปัจจุบัน
คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ได้เผยแพร่รายละเอียดแนวคิดดังกล่าวในวันพุธ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางกฎหมายที่ธนาคารกลางยุโรปสามารถใช้เปิดตัวสกุลเงินยูโรดิจิทัลได้
สกุลเงินนี้จะใช้ได้กับบุคคลที่อาศัยอยู่ในเขตยูโรโซน รวมทั้งผู้เดินทางในเขตดังกล่าว โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวเลือกการชำระเงินสำหรับบุคคลในการทำธุรกรรมออนไลน์และออฟไลน์ด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัลของตัวเอง แบบไม่ระบุความเป็นสกุลเงินใดสกุลหนึ่ง
ทั้งนี้ กระบวนการทางกฎหมายในขั้นตอนสุดท้ายจะต้องได้รับการสนับสนุนจาก 27 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปและรัฐสภายุโรป
ผู้ที่ชื่นชอบแนวคิดการใช้เงินยูโรดิจิทัลกล่าวว่า สกุลเงินนี้จะช่วยส่งเสริมกระแสการใช้จ่าย และปิดกั้นสกุลเงินดิจิทัลที่มีความปลอดภัยต่ำของภาคเอกชนไม่ให้เป็นที่นิยมในตลาด โดยเงินยูโรดิจิทัลนั้นมีความปลอดภัยสูงเพราะมีสหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรปคอยกำกับดูแล
"เนื่องจากเงินยูโรเป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากเป็นอันดับ 2 ของโลกอยู่แล้ว จึงมีโอกาสสูงที่จะรองรับตลาดเพิ่มเติมในอนาคตด้วยสกุลเงินดิจิทัล" วัลดิส โดมโบรฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า กล่าวกับผู้สื่อข่าว
นักวิจารณ์ตั้งคำถามถึงความจำเป็นของเงินยูโรดิจิทัล และนักธนาคารเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะที่การศึกษาของธนาคารกลางยุโรปเองพบว่าประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวในการชำระเงิน
"ธนาคารกลางยุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรปยังไม่ได้แสดงให้เห็นแนวคิดที่ชัดเจนว่าเหตุใดเราจึงต้องการเงินยูโรดิจิทัล รวมถึงมูลค่าเพิ่มที่ผู้ใช้จะได้รับจากการใช้เงินสุกลดังกล่าว" มาร์คัส เฟเบอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีแสดงความเห็น
ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า "ผลประโยชน์ระยะยาวของเงินยูโรดิจิทัล มีมากกว่าต้นทุน" และเตือนว่า "การไม่ดำเนินการใดๆเลย อาจทำให้สูญเสียมากกว่า"
คริสติน ลาการ์ด กล่าวเมื่อเดือนมีนาคมว่า สกุลเงินดิจิทัลมีความสำคัญต่อความยืดหยุ่นและช่วยปกป้องความเป็นอิสระในการชำระเงินของยุโรป พร้อมเสริมว่า การพึ่งพาแหล่งชำระเงินเพียงแหล่งเดียว ไม่เป็นผลดี
ปัจจุบัน Visa และ Mastercard ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ครองตลาดการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ธนาคารต่างๆ ได้เตือนถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เนื่องจากลูกค้าสามารถถือทั้งเงินของตนไว้ในบัญชียูโรดิจิทัลและในกระเป๋าเงินส่วนตัว ซึ่งจะทำให้กระแสเงินเหล่านั้นออกจากงบดุลของธนาคาร
"เพื่อป้องกันธนาคารจากความเสี่ยงของกระแสเงินฝากที่อาจหายไปและเพื่อจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถของธนาคารในการจัดหาเงินทุนให้กับเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือต้องกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมและมั่นคงในการถือครองและทำธุรกรรม" สมาพันธ์ธนาคารยุโรปกล่าวเมื่อวันพุธ
ข้อเสนอระบุว่า จะมีการจำกัดจำนวนเงินที่ผู้คนสามารถเก็บไว้ในสกุลเงินยูโรดิจิทัล โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรปได้เสนอเพดานสูงสุดที่คนละไม่เกิน 3,000 ยูโร (ประมาณ 117,000 บาท)
สกุลเงินดิจิทัลจะได้รับสถานะ "เงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" ซึ่งหมายความว่าใช้จ่ายได้อย่างถูกกฏหมาย แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขการชำระเงินของผู้รับชำระด้วยเช่นกัน เช่น ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ยอมรับการชำระเงินดิจิทัลทุกรูปแบบ
ธนาคารกลางยุโรปถูกกำหนดให้ไฟเขียวสกุลเงินดิจิทัลอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม และคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฮังการี ป่วนสหภาพยุโรปอีกครั้ง ด้วยกฎระเบียบใหม่สำหรับชาวรัสเซียและเบลารุส
ชาวรัสเซียหรือเบลารุสที่ลงทะเบียนเป็น “แรงงานรับเชิญ” ในฮังการี สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้โดยไม่ต้องมีก
เมืองรับมือโลกเดือดไหวหรือไม่ เช็กความพร้อมชุมชน
งานวิจัยชี้ชัดประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงลำดับต้นๆ ของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูร้อนที่ผ่านมาหลายภาคของไทยเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ไหว หลายพื้นทื่เจอกับภาวะร้อนและแล้งยาวมาแล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เจอฝนถล่มหนักระยะสั้นๆ ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม
คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ...เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน มีเนื้อหาดังนี้
โปแลนด์ตั้งเขตกันชนบริเวณชายแดนเบลารุส
โปแลนด์สงสัยมานานแล้วว่าเบลารุสพยายามจัดตั้งกลุ่มคนที่แสวงหาความคุ้มครองจากภูมิภาคที่มีภาวะวิกฤตเพื่อนำไปถึงช