ตุรเคียจะจัดการเจรจาร่วมกับนาโต เพื่อเปิดทางให้สวีเดนเข้าเป็นสมาชิก

ตัวแทนระดับสูงจากรัฐบาลของตุรเคียและสวีเดนจะพบกันที่สำนักงานใหญ่ของนาโตในวันพฤหัสบดีหน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลสตอกโฮล์มในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร

แฟ้มภาพ ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรเคีย (ขวา) และนายกรัฐมนตรีอูลฟ์ คริสเตอร์สัน ของสวีเดน (ซ้าย) จับมือกันระหว่างพิธีต้อนรับที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอังการา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ในการเยือนตุรเคียอย่างเป็นทางการของผู้นำสวีเดน (Photo by Adem ALTAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า รัฐบาลอังการา (ตุรเคีย) และรัฐบาลสตอกโฮล์ม (สวีเดน) เตรียมส่งตัวแทนระดับสูงเข้าพบปะหารือกันที่สำนักงานใหญ่ของนาโตที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม คาดว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงยอมเปิดทางให้สวีเดนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธว่า "ถึงเวลาแล้วที่จะต้อนรับสวีเดนในฐานะสมาชิกเต็มรูปแบบของนาโต"

นาโตและสมาขิกหลายชาติพยายามต่อรองและผลักดันตุรเคียให้ไฟเขียวแก่สวีเดน ก่อนถึงการประชุมสุดยอดในลิทัวเนียระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม ซึ่งคาดว่าจะได้เปิดตัวรับรองอย่างเป็นทางการ

แต่รัฐบาลอังการายังคงยืนหยัดในจุดยืนของตัวเอง หลังพยายามขัดขวางการผลักดันสวีเดนให้เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรทางทหารมาตลอด

สโตลเทนเบิร์กกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การพบปะเจรจาจะมีบุคคลระดับรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านข่าวกรองจากทั้งตุรเคีย, สวีเดน และฟินแลนด์

สวีเดนอยู่ในสถานะ "ผู้ได้รับเชิญ" จากนาโตให้เข้าร่วมกลุ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 แต่การเสนอชื่อเข้าเป็นสมาชิกซึ่งต้องให้สัตยาบันโดยรัฐสมาชิกทั้ง 31 ประเทศ ถูกตุรเคียและฮังการีขัดขวาง

สมาชิกจากชาติตะวันตกหวังว่า ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรเคีย จะยอมลดจุดยืนของเขาในประเด็นขัดข้องทางการทูตที่มีต่อสวีเดน หลังจากที่เขาได้รับการเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่อย่างยากลำบากเมื่อเดือนที่แล้ว

สมาชิกจากชาติตะวันตกและรัฐบาลสตอกโฮล์มเองก็ได้ยืนยันว่า สวีเดนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกประการตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาลอังการาเมื่อปีที่แล้ว

ข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญในการมุ่งปราบปรามการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านชาวเคิร์ด เช่น พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) ที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดยรัฐบาลอังการาและถือว่าเป็นกลุ่ม "ผู้ก่อการร้าย"

ทั้งนี้ ตุรเคียเพิ่งเลิกคัดค้านการเข้าร่วมกลุ่มของฟินแลนด์เมื่อตอนต้นปี และท้ายที่สุดฟินแลนด์ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโตชาติล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน