สหรัฐฯ ปูพรมแดงต้อนรับนายกฯอินเดียด้วยข้อตกลงการลงทุนเครื่องบินไอพ่นและชิปเซ็ต

ผู้นำสหรัฐฯ ปูพรมแดงต้อนรับนายกรัฐมนตรีอินเดีย ด้วยข้อตกลงสำคัญเกี่ยวกับเครื่องยนต์เครื่องบินรบ, เซมิคอนดักเตอร์ และความร่วมมือด้านอวกาศ ภายใต้การเดิมพันกับรัฐบาลนิวเดลีในการถ่วงดุลจีน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (ขวา) ทักทายนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ขณะเดินทางเยือนทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน (Photo by Mandel NGAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา และได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว

โมดีซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษของอินเดีย ได้ร่วมรับประทานอาหารมื้อส่วนตัวกับไบเดนมาก่อนแล้วในวันพุธ ก่อนที่เขาจะมาเยือนทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดีเพื่อรับการต้อนรับด้วยพิธีทางทหาร

ผู้นำอินเดียมีกำหนดการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมร่วมของสภาคองเกรส และเดินทางกลับมายังทำเนียบขาวอีกครั้งเพื่อร่วมงานกาลาดินเนอร์ โดยจิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ได้เชิญนีนา เคอร์ติส เชฟชื่อดังชาวแคลิฟอร์เนียเพื่อมาปรุงอาหารให้กับนายกรัฐมนตรีโมดีผู้เคร่งครัดเรื่องมังสวิรัติ

ทำเนียบขาวกล่าวว่า ผู้นำทั้งสองได้หารือร่วมกันในหลายๆประเด็นเกี่ยวกับการลงทุนทางเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดของการเยือนครั้งนี้คือ การลงนามในการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ของสหรัฐฯ เพื่อเติมเต็มแผนการผลิตเครื่องบินขับไล่ของรัฐบาลนิวเดลี ผ่านความร่วมมือของบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก หรือ จีอี ในการผลิตเครื่องยนต์ เอฟ414 ร่วมกับบริษัทฮินดูสถาน แอโรนอติกส์ ซึ่งเป็นของรัฐบาลอินเดีย

นอกจากนี้ อินเดียมีแผนจะซื้อ MQ-9B SeaGuardians ซึ่งเป็นโดรนติดอาวุธที่มีความแม่นยำสูงจากสหรัฐอีกด้วย

รัฐบาลวอชิงตันหวังว่าความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจะช่วยแยกอินเดียออกจากรัสเซียซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ทางทหารหลักของรัฐบาลนิวเดลีในช่วงสงครามเย็น

ขณะที่อินเดียเล่นบทคนกลาง และไม่ยอมประณามรัสเซียจากการรุกรานยูเครน แถมยังใช้โอกาสนี้เพื่อซื้อน้ำมันลดราคาจากรัสเซียอีกต่างหาก

อินเดียกับสหรัฐฯเองก็มีประเด็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมายาวนาน โดยอินเดียรู้สึกไม่พอใจที่สหรัฐฯขายเครื่องบินรบ เอฟ-16 ให้กับปากีสถาน เพื่อนบ้านคู่ขัดแย้งในประวัติศาสตร์

ในข้อตกลงอีกฉบับหนึ่ง ไมครอนยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐจะลงทุน 800 ล้านดอลลาร์ในโรงงานประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินทุนเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.75 พันล้านดอลลาร์ หากได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนิวเดลี โดยสหรัฐหวังจะกระจายห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง หลังปฏิเสธการส่งออกชิปขั้นสูงไปยังจีน

ด้านอินเดียเองก็มุ่งหวังเติบโตเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ จึงใช้โอกาสเยือนของโมดีในการทำข้อตกลงร่วมในโครงการอาร์เทมิสที่นำโดยสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2568

ในฐานะส่วนหนึ่งของความร่วมมือ โครงการอวกาศของอินเดียจะทำงานร่วมกับนาซา ในภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติในปีหน้า

สหรัฐอเมริกาแสวงหาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอินเดียมากขึ้นตั้งแต่ช่วง 30 ปีที่แล้ว โดยเห็นว่าประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรนับพันล้านคนแห่งนี้ เป็นดินแดนที่สามารถท้าทายอิทธิพลจีนและต่อต้านลัทธิอิสลามหัวรุนแรง.

เพิ่มเพื่อน