ไฟไหม้ในเรือนจำหญิงฮอนดูรัส เสียชีวิตกว่า 40 ราย เหตุแก๊งคู่อริปะทะกัน

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 รายที่เรือนจำหญิงในฮอนดูรัส หลังเกิดการปะทะกันรุนแรงระหว่างแก๊งคู่อริทำให้เกิดไฟลุกไหม้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสถานที่ดังกล่าว

บรรดาญาติและครอบครัวของผู้ต้องขังในเรือนจำหญิงเซฟาส เดินทางมารวมตัวกันที่ด้านนอกเรือนจำ หลังเกิดเหตุไฟไหม้ระหว่างการทะเลาะวิวาทของกลุ่มอาชญากรรม ในเมืองทามารา ประเทศฮอนดูรัส เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย (Photo by Orlando SIERRA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า เกิดเหตุไฟไหม้ในเรือนจำหญิงแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงเตกูซิกัลปาของฮอนดูรัสไปทางเหนือประมาณ 25 กิโลเมตร

เอ็ดการ์โด บาราโฮนา โฆษกหน่วยงานตำรวจฮอนดูรัส ระบุว่า ความรุนแรงของไฟไหม้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย แต่ยังไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ว่าทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีก 5 คนได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว

บรรดาญาติหลายร้อยคนของเหล่านักโทษหญิงที่ถูกคุมขังในเรือนจำดังกล่าว เดินทางมารวมตัวกันที่ด้านนอกเรือนจำเพื่อติดตามข้อมูลผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บที่อาจเป็นคนในครอบครัวของตน

มีผู้พบเห็นทหารและตำรวจติดอาวุธหนักเคลื่อนพลเข้ามาและคุ้มกันเรือนจำ ขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุด้วยเช่นกัน

ญาติของผู้ต้องขังคนหนึ่งถ่ายทอดข้อมูลที่รับมาจากภายในเรือนจำว่า สมาชิกของแก๊งอาชญากรรมหนึ่งได้บุกเข้าไปในห้องขังของแก๊งคู่อริและทำการจุดไฟเผา จนไฟไหม้ลามและสร้างความเสียหายให้กับตัวอาคาร

เรือนจำหญิงดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่าเซฟาสและตั้งอยู่ในเมืองทามารา มีนักโทษคุมขังอยู่ประมาณ 900 คน

ยูริ โมรา โฆษกสำนักงานอัยการฮอนดูรัส กล่าวว่า เหยื่อส่วนใหญ่เสียชีวิตในกองเพลิงทันที และผู้เสียชีวิตบางส่วนมีร่องรอยกระสุนบนร่างกายจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืน ซึ่งอัยการกำลังดำเนินการสอบสวนเพื่อระบุว่าแก๊งใดเป็นผู้ลงมือโจมตีก่อน

ประธานาธิบดีซิโอมารา คาสโตร ของฮอนดูรัส กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า เธอรู้สึกตกใจกับการสังหารผู้หญิงจำนวนมากในเรือนจำโดยกลุ่มอันธพาล ทั้งๆที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ พร้อมแสดงความเสียใจกับบรรดาสมาชิกในครอบครัวของผู้เสียชีวิต

คาสโตรประกาศภาวะฉุกเฉิน และกล่าวว่าเธอจะใช้มาตรการรุนแรง เพื่อให้ผู้นำด้านความมั่นคงรับผิดชอบต่อเหตุดังกล่าว ซึ่งเธอก็ทำอย่างที่พูดจริงๆ ด้วยการสั่งปลดรามอน ซาบิลลอน รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง และแต่งตั้งกุสตาโว ซานเชซ ผู้อำนวยการตำรวจแห่งชาติ ให้ขึ้นมาแทนที่ในฐานะรัฐมนตรีคนใหม่ โดยซาบิลลอนถูกโยกไปดูแลกระทรวงต่างประเทศ

ทั้งนี้ ฮอนดูรัสเป็นประเทศที่ถูกทำลายด้วยการทุจริตและแก๊งอันธพาลที่แทรกซึมไปทุกภาคส่วนแม้กระทั่งในรัฐบาลระดับสูง อีกทั้งยังเป็นประเทศทางผ่านที่สำคัญในการลักลอบค้าโคเคนและยาเสพติดอื่นๆ ของโคลอมเบีย ที่มุ่งสู่ตลาดในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

ฮอนดูรัสได้รับการขนานนามว่าเป็น "สามเหลี่ยมแห่งความตาย" ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างเอลซัลวาดอร์และกัวเตมาลาในอเมริกากลาง โดยมีกลุ่มอาชญากรที่เรียกว่า "มาราส" ทำการควบคุมการค้ายาเสพติดและองค์กรอาชญากรรมมากมาย

กลุ่มค้ายาเสพติดและสมาชิกองค์กรอาชญากรรมต่างมีส่วนรับผิดชอบต่ออัตราการฆาตกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในฮอนดูรัส โดยมีสัดส่วนการฆาตกรรม 40 คดีต่อประชากร 100,000 คนในปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 4 เท่า

ด้วยเหตุนี้ คนหนุ่มสาวจำนวนมากในฮอนดูรัสจึงเลิกหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าและคิดแต่เพียงการย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐอเมริกา.

เพิ่มเพื่อน