ผู้นำฝรั่งเศสและอิตาลีปรับความเข้าใจ พร้อมหันมาร่วมมือกันอีกครั้ง หลังยุติความตึงเครียด

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีอิตาลีให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น หลังพบปะหารือในกรุงปารีสเพื่อแก้ไขความสัมพันธ์ของสองชาติที่ตึงเครียดในช่วงหลัง

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ซ้าย) ต้อนรับนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี ที่ทำเนียบประธานาธิบดี หรือ ปาแลเดอเลลีเซ ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน (Photo by Ludovic MARIN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า ฝรั่งเศสและอิตาลีกลับมาฟื้นสัมพันธ์อันดีอีกครั้ง หลังผู้นำสองชาตินัดเคลียร์ประเด็นขัดแย้งกันที่กรุงปารีส

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีหญิง จอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี ต่างให้คำมั่นว่าสองชาติจะกลับมาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น หลังจากเกิดความตึงเครียดข้ามปีในประเด็นการรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศ

จอร์เจีย เมโลนี ซึ่งก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯอิตาลีในปี 2565 เผชิญประเด็นความขัดแย้งกับฝรั่งเศสเรื่องผู้อพยพมาตั้งแต่ก่อนได้รับตำแหน่ง และในการเยือนปารีสอย่างเป็นทางการครั้งแรก เธอได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "อิตาลีและฝรั่งเศสต่างเป็นสองชาติพันธมิตรที่สำคัญ และมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของทวีปยุโรป การพูดคุยเพื่อขจัดความตึงเครียดและความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำในเวลานี้"

"จำเป็นอย่างยิ่งที่โรมและปารีสจะต้องทำงานร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคีและระดับนานาชาติต่อไป" เมโลนีกล่าวเสริม

ขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสเรียกร้องให้พันธมิตรทั้งสองชาติดำเนินความร่วมมือต่อไปในประเด็นผู้อพยพ ซึ่งเป็นข้อกังวลทางการเมืองภายในประเทศที่สำคัญทั้งสำหรับรัฐบาลของเขาและของผู้นำอิตาลี

มาครงกล่าวว่าทั้งสองประเทศต้องการการพูดคุยด้วยข้อความที่ตรงไปตรงมา, ตรงประเด็น และตรงความต้องการ ไม่ใช่การโต้เถียงและความไม่ลงรอยกัน

ย้อนไปในเดือนพฤศจิกายน 2565 นายกฯหญิงของอิตาลีปฏิเสธไม่ให้เรือเพื่อมนุษยธรรมซึ่งช่วยเหลือผู้อพยพ 230 คนจากกลางทะเลเข้าเทียบท่าในอิตาลี จนทำให้เรือต้องเปลี่ยนเส้นทางมุ่งหน้าไปยังฝรั่งเศสแทน และรัฐบาลของมาครงประณามการตัดสินใจที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักสากลของรัฐบาลอิตาลี

ต่อมา เจอรัลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีมหาดไทยฝีปากกล้าของฝรั่งเศสจุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการกล่าวตำหนิจอร์เจีย เมโลนี ว่าไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐาน

อันโตนิโอ ทาจานี รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี จึงตอบโต้ด้วยการยกเลิกแผนการเดินทางไปยังกรุงปารีส และเรียกร้องคำขอโทษจากรัฐบาลฝรั่งเศส

ในการพบปะครั้งนี้ มาครงและเมโลนีมีประเด็นหารือเกี่ยวกับความช่วยเหลือสำหรับยูเครนและการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรปและนาโต ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม ตามการระบุของสำนักงานประธานาธิบดีฝรั่งเศส.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ต้อนรับคุณหญิงปัทมา-นักกีฬา ที่เดินทางถึงฝรั่งเศส

ความเคลื่อนไหวการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่กำหนดแข่งขัน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส "ปารีสเกมส์"2024 ระหว่างวันที่ 16 รกรกฏาคม -11 สิงหาคม 2567 นั้น ในส่วนของกองทัพนักกีฬาจากประเทศไทยที่ได้โควต้าเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 51 คน ใน 17 ชนิดกีฬานั้นก็ได้เริ่มทยอยเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมบ้างแล่้ว