สหประชาชาติประกาศรับรองสนธิสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง ครั้งประวัติศาสตร์

สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกของโลกเพื่อปกป้องทะเลหลวงได้รับการรับรองเมื่อวันจันทร์ที่องค์การสหประชาชาติ ทำให้เกิดข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญซึ่งออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบนิเวศที่อยู่ห่างไกลและมีความสำคัญต่อมนุษยชาติ

(Photo by Odd ANDERSEN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติแถลงยกย่องความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของสนธิสัญญาที่จะกำหนดกรอบทางกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไปยังน่านน้ำสากลซึ่งคิดเป็นกว่า 60% ของมหาสมุทรทั่วโลก

"มหาสมุทรเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงโลกของเรา และวันนี้พวกคุณได้สูบฉีดชีวิตขึ้นใหม่และมอบโอกาสให้มหาสมุทรได้ต่อสู้" เขากล่าวกับตัวแทนชาติสมาชิก หลังสนธิสัญญาว่าด้วยทะเลหลวงได้รับการรับรองในที่ประชุมสหประชาชาติ

หลังจากหารือกันนานกว่า 15 ปี รวมถึงการเจรจาอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 4 ปี ในที่สุดประเทศสมาชิกของสหประชาชาติก็ตกลงในข้อความของสนธิสัญญาดังกล่าวในเดือนมีนาคม หลังจากการเจรจารอบสุดท้ายเป็นไปอย่างวุ่นวาย

ทนายความและนักแปลของสหประชาชาติได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องของทุกตัวอักษร เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาสาระของสนธิสัญญาสื่อสารได้ตรงกับ 6 ภาษาทางการ

"ตอนนี้ประเทศต่าง ๆ จะต้องให้สัตยาบันโดยเร็วที่สุดเพื่อนำสนธิสัญญามาบังคับใช้ และเราจะได้เริ่มต้นปกป้องมหาสมุทรของเรา, สร้างความยืดหยุ่นของเราต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปกป้องการดำรงชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคน" รีเบคก้า ฮับบาร์ด จาก High Seas Alliance (องค์กรเพื่อการอนุรักษ์ทะเลหลวง) กล่าว

นักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทรมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะแหล่งผลิตออกซิเจนส่วนใหญ่ที่มนุษย์ใช้ในการหายใจ และมีบทบาทในการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับจุลภาค

แต่มหาสมุทรกว่าครึ่งของโลกอยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะของแต่ละประเทศ จึงไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่งในการรับผิดชอบ ดังนั้นการให้ความคุ้มครองสิ่งที่เรียกว่า "ทะเลหลวง" จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ

"ทะเลหลวง" ถูกละเลยมานานในการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากผู้คนมักจะสนใจอยู่แค่พื้นที่ชายฝั่งและสิ่งมีชีวิตหลักๆไม่กี่ชนิด

ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญในสนธิสัญญาดังกล่าวคือ การกำหนดความสามารถในการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากล

ปัจจุบัน ทะเลหลวงเพียงประมาณ 1% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรการอนุรักษ์ทุกประเภท

สนธิสัญญานี้ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อประเทศต่างๆ ที่จะปกป้อง 30% ของมหาสมุทรและผืนดินของโลกภายในปี 2573 ตามข้อตกลงแยกอีกฉบับที่รัฐบาลโลกได้บรรลุร่วมกันในแคนาดาเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

สนธิสัญญาทะเลหลวงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนอกเหนือเขตอำนาจแห่งชาติ" หรือบีบีเอ็นเจ (BBNJ) และได้รับการคาดหวังให้มีการผลักดันสู่การให้สัตยาบันของทุกประเทศสมาชิก เพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ในการประชุมมหาสมุทรแห่งสหประชาชาติครั้งต่อไปที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน 2568

สนธิสัญญาฯมีการระบุข้อกำหนดในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับกิจกรรมที่นำเสนอเพื่อดำเนินการในน่านน้ำสากล

กิจกรรมดังกล่าวแม้ว่าจะไม่ได้ระบุเป็นถ้อยคำโดยตรง แต่อาจรวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ตั้งแต่การตกปลาและการขนส่งทางทะเล ไปจนถึงกิจกรรมที่เป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้น เช่น การทำเหมืองในทะเลลึก หรือแม้แต่โครงการวิศวกรรมธรณีที่มุ่งต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

สนธิสัญญาฯยังกำหนดหลักการในการแบ่งปันผลประโยชน์ของ "ทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล" ที่รวบรวมโดยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในน่านน้ำสากล ซึ่งเป็นจุดติดขัดที่เกือบทำให้การเจรจาในนาทีสุดท้ายต้องหยุดชะงักในเดือนมีนาคม

บรรดาประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมักไม่มีเงินสนับสนุนการสำรวจดังกล่าว ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิในการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยหวังว่าประเทศของตนจะไม่ถูกทอดทิ้งจากสิ่งที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ในอนาคตในการทำการค้าทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล

สนธิสัญญาทะเลหลวงจะเปิดให้ลงนามในวันที่ 20 กันยายน เมื่อบรรดาผู้นำจากหลายประเทศเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง