จีนและสหรัฐฯ ต้องเลือกระหว่าง "ความร่วมมือหรือความขัดแย้ง" นักการทูตระดับสูงของรัฐบาลปักกิ่งกล่าวกับแอนโทนี บลิงเคนเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเป็นการเดินทางวันสุดท้ายของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯที่มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ตึงเครียดอย่างรุนแรงระหว่างสองมหาอำนาจ
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ (ซ้าย) จับมือกับหวังอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เรือนรับรองเตียวหยูไถ่ ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน (Photo by Leah MILLIS / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯอยู่ในระหว่างภารกิจเยือนจีนเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ตึงเครียดอย่างรุนแรงระหว่างสองมหาอำนาจ และได้พบกับฉินกัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์
ในวันจันทร์ บลิงเคนได้เข้าพบกับหวังอี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจีนและปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
บลิงเคนและหวังอี้พูดคุยกันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงที่เรือนรับรองเตียวหยูไถ่ ในกรุงปักกิ่ง
หวังอี้กล่าวกับบลิงเคนว่า "การเดินทางเยือนปักกิ่งครั้งนี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ" ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี
"ซึ่งสองประเทศจำเป็นต้องเลือกระหว่างการเจรจาหรือการเผชิญหน้า อันหมายถึง ความร่วมมือหรือความขัดแย้ง" หวังอี้กล่าว และเสริมว่า "เราต้องพลิกฟื้นความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ตกต่ำลง, ผลักดันให้กลับไปสู่แนวทางที่ดีและมั่นคง และทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางที่ถูกต้องเพื่อให้สองชาติเข้ากันได้อีกครั้ง"
นอกจากนี้ หวังอี้บอกกับบลิงเคนในประเด็นไต้หวันว่า "จีนไม่มีที่ว่างสำหรับการประนีประนอมหรือยอมรับ"
"สหรัฐฯ ต้องยึดมั่นอย่างแท้จริงต่อหลักการจีนเดียวที่ได้รับการยืนยันในแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับระหว่างสหรัฐฯ-จีน, เคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน ซึ่งหมายถึงการต่อต้าน 'เอกราชของไต้หวัน' อย่างเป็นรูปธรรม" หวังอี้กล่าว
ล่าสุดเมื่อเวลา 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (15.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) บลิงเคนได้เข้าพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแล้ว และมีรายงานว่าผู้นำจีนคาดหวังให้การเยือนของบลิงเคนจะทำให้เกิด "คุณูปการเชิงบวก" ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลวอชิงตัน
"ปฏิสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐควรอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันด้วยความจริงใจเสมอ ผมหวังว่าการเยือนของคุณ (บลิงเคน) จะสร้างคุณูปการเชิงบวกในการทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มีเสถียรภาพ" สถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็นอ้างคำพูดของสีจิ้นผิงที่กล่าวกับบลิงเคน
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความตึงเครียดได้เพิ่มสูงขึ้นระหว่างสองประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การค้า, เทคโนโลยี ไปจนถึงไต้หวัน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของวอชิงตันกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญจากการเจรจาของบลิงเคน แต่พวกเขาหวังว่าสองชาติอาจกลับมาเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารตามปกติอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ความเข้าใจผิดใดๆบานปลายไปสู่ความขัดแย้ง
ทั้งนี้ ฉินกัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนตอบรับคำเชิญเยือนวอชิงตันของบลิงเคนเช่นกัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี.