'สวีเดน' จะปลอดบุหรี่เป็นประเทศแรกในโลกภายในปีนี้

สวีเดน ประกาศจะเป็นประเทศปลอดบุหรี่ประเทศแรกของโลกให้ได้ภายในปีนี้ เป้าหมายคือต้องมีประชากรที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า 520,000 คนจากจำนวนประชากร 10.42 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งการสูบบุหรี่ เช่น ห้ามสูบบริเวณด้านหน้าผับบาร์ บนท้องถนน บริเวณป้ายรถประจำทาง

สถิติคนสูบบุหรี่ในสวีเดนเริ่มลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ใครที่ต้องการเลิกบุหรี่ส่วนใหญ่จะหันไปเสพ ‘สนุส’ (Snus) ถุงยาสูบบรรจุนิโคตินขนาดเล็กที่ผู้ใช้สอดเข้าไปในกระพุ้งแก้ม ซึ่งถือว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและไม่รบกวนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่มันสามารถทำให้เสพติดได้ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นต่อสนุสว่า ถ้าหากมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งหรือโรคระบบทางเดินหายใจก็นับว่าโอเคแล้ว และน่าจะดีกว่าบุหรี่ไฟฟ้า ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันถึงอันตราย หรืออาจเป็นตัวเริ่มต้นของการสูบบุหรี่

ที่ประเทศแคนาดา เริ่มมีมาตรการควบคุมบุหรี่ด้วยการระบุคำเตือนด้านสุขภาพบนบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่และซิการ์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป หน่วยงานสาธารณสุขเคลมว่า แคนาดาเป็นประเทศแรกของโลกที่ออกมาตรการนี้ และเชื่อมั่นว่าคำเตือนและภาพที่สยดสยองบนซองบุหรี่จะทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ในประเทศลดลงได้

ในปี 2000 แคนาดากลายเป็นประเทศแรกที่นำภาพคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ เช่น ภาพปอดหรือหัวใจที่เสียหายจากพิษของบุหรี่ นับตั้งแต่นั้นมาจำนวนผู้สูบบุหรี่ในแคนาดาเริ่มลดน้อยถอยลง เป้าหมายของรัฐบาลในออตตาวาคือ การลดจำนวนคนสูบบุหรี่ทั้งหมดให้เหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรือราว 1.9 ล้านคน ภายในปี 2035 ปัจจุบันชาวแคนาดาประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ยังคงสูบบุหรี่ และทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 48,000 คน

ในขณะที่ประเทศแนวหน้าของโลกกำลังรณรงค์ให้ประชากรลด-เลิกบุหรี่ แต่ดูเหมือนประเทศเยอรมนีจะมีแนวโน้มที่สวนทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงขนาดเรียกเยอรมนีว่าเป็นหนึ่งใน ‘เด็กที่มีปัญหา’ ของโลก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการเข้าถึงได้ง่าย นอกจากตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติซึ่งมีอยู่ราว 300,000 ตู้ทั่วประเทศแล้ว ตามร้านค้าริมถนน ร้านค้าในปั๊มน้ำมัน หรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีขาย และแม้จะมีมาตรการห้ามสูบบุหรี่ตามสถานที่สาธารณะแล้วก็ตาม แต่จำนวนคนสูบบุหรี่ในเยอรมนีแทบไม่ลดจำนวนลงเลย นักวิจารณ์หลายคนมีความเห็นว่า ภาษีบุหรี่ในเยอรมนีต่ำเกินไป ราคาขายจึงถูก เฉลี่ยซองละประมาณ 297 บาท ผิดกับออสเตรเลียที่ขายกันเฉลี่ยถึงซองละ 1,000 บาท

เยอรมนีต่อสู้กับบุหรี่มายาวนาน ย้อนไปถึงยุคทศวรรษ 1970-1980 ที่ผู้คนเริ่มตระหนักว่ามันเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าความสุขหรรษา โดยเฉพาะพิษภัยจากน้ำมันดิน นิโคติน และคอนเดนเสต หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีการห้ามโฆษณาหรือจำกัดการโฆษณาบุหรี่เพิ่มขึ้น เริ่มแรกโดยสมัครใจ สำหรับทีวี วิทยุ และสุดท้ายสำหรับโรงภาพยนตร์ จนถึงสื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ต่อมามีมาตรการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งทำให้ตู้ขายบุหรี่อัตโนมัติตามริมถนนหายไปมากขึ้น

การห้ามสูบบุหรี่บนเครื่องบินเริ่มปรากฏตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 และเริ่มมีกฎหมายคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ในเยอรมนีเมื่อปี 2007 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ทำงาน ที่สาธารณะ บนรถไฟ และในร้านอาหาร ส่วนคำเตือนเรื่องสุขภาพและภาพถ่ายที่กลัวบนพื้นที่สองในสามของซองบุหรี่เพิ่งเริ่มมีในปี 2016 และการห้ามโฆษณายาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินในสื่อสิ่งพิมพ์ก็ตามมา รวมถึงห้ามโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต วิทยุ และทีวี.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแน่ 'คมนาคม' เร่งศึกษาค่าธรรมเนียมรถติด

“คมนาคม” เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศ “อังกฤษ-สิงคโปร์-สวีเดน-อิตาลี” พบช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน สนข. เร่งศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ชี้ช่วยดึงดูดประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เชื่อมระบบฟีดเดอร์-ขนส่งหลัก หนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

'เอ็มบัปเป' ออกโรงปัดข่าวลือ ไม่เกี่ยวข้องคดีข่มขืนที่ประเทศสวีเดน

คีเลียน เอ็มบัปเป ซูเปอร์สตาร์ของทีม เรอัล มาดริด ออกโรงโพสต์โซเชียลมีเดีย ปฏิเสธข่าวลือที่ว่าเขากำลังโดนตำรวจสอบสวนข้อหาพัวพันกับคดีข่มขืน ระหว่างไปพักผ่อนในประเทศสวีเดน

'พิพัฒน์' เผยข่าวดี!! เริ่มส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน-ฟินแลนด์ ฤดูกาล 2024

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่ากรมการจัดหางาน จะเริ่มทยอยจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน ฤดูกาล 2024 แล้ว ล็อตแรกกว่า 1

'ผบ.ทอ.' ยังไม่เคาะ 'กริพเพน-เอฟ16' จ่อตั้ง กก.คัดเลือกแบบ

'ผบ.ทอ.' ยังไม่เคาะ ‘กริพเพน-เอฟ16’ เปิดโอกาส 2 ค่าย ยื่นข้อเสนอเพิ่ม หลังเยือน ‘สวีเดน-สหรัฐ’ เตรียมตั้ง กก.คัดเลือกแบบฯ พร้อมแจง กมธ.งบปี 68 ให้เห็นถึงเหตุผล-ความจำเป็น