ดาวเทียมสอดแนมเกาหลีเหนือตกทะเล เกาหลีใต้เร่งกู้ซากทันที

เกาหลีเหนือพยายามปล่อยดาวเทียมสอดแนมแต่ล้มเหลว ก่อนชิ้นส่วนพุ่งตกทะเล และกองทัพเกาหลีใต้เก็บกู้ซากดังกล่าวไว้ได้บางส่วน

วัตถุที่สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 'จรวดติดตั้งดาวเทียมสอดแนม' ของเกาหลีเหนือที่ถูกกองทัพเกาหลีใต้เก็บกู้ขึ้นมาได้จากน่านน้ำทางตะวันตกของทะเลเหลือง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม (Photo by Handout / South Korean Defence Ministry / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า เกาหลีเหนือไม่มีดาวเทียมที่ใช้งานได้ในอวกาศ และผู้นำคิม จอง อึน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาดาวเทียมสอดแนมทางทหารเป็นอันดับแรกสำหรับรัฐบาลของเขา แม้ว่ามติของสหประชาชาติจะห้ามใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็ตาม

จึงเป็นที่มาให้รัฐบาลเปียงยางต่อยอดความพยายามปล่อยดาวเทียมที่จะมีความสำคัญต่อการติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตร

แต่จรวดติดตั้งดาวเทียมสอดแนมที่ถูกปล่อยเมื่อช่วงเช้าวันพุธ สูญเสียแรงขับและตกลงสู่ทะเลพร้อมกับดาวเทียม ตามรายงานของสำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (เคเอ็นซีเอ) ซึ่งเสริมว่ารัฐบาลจะเร่งตรวจสอบข้อบกพร่องร้ายแรงและดำเนินการทดสอบอีกครั้งโดยเร็วที่สุด

ขณะฟากฝั่งเกาหลีใต้ที่ตื่นตัวสูงกับการปล่อยจรวดอย่างปัจจุบันทันด่วนของฝั่งเหนือ ระบุว่า สามารถค้นหาและกู้ซากชิ้นส่วนต้องสงสัยในทะเลได้แล้ว

กองทัพเกาหลีใต้เปิดเผยภาพที่แสดงให้เห็นโครงสร้างโลหะคล้ายถังขนาดใหญ่ที่มีท่อและสายไฟบางๆ อยู่ด้านล่าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาจเป็นถังเชื้อเพลิงเหลว

"ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคจะได้รับข้อมูลเชิงลึกอย่างมากเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของเกาหลีเหนือ จากซากชิ้นส่วนที่กู้ขึ้นมา" นักวิเคราะห์คนหนึ่งจากสหรัฐฯ กล่าวกับเอเอฟพี

รัฐบาลโซล, รัฐบาลโตเกียว และรัฐบาลวอชิงตันต่างประณามการยิงจรวดครั้งนี้ ซึ่งพวกเขากล่าวว่าเป็นการละเมิดมติของสหประชาชาติที่สั่งห้ามเกาหลีเหนือไม่ให้ทดสอบเทคโนโลยีขีปนาวุธใดๆ

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติ "การกระทำดังกล่าว" และกลับสู่โต๊ะเจรจา

"การยิงวัตถุใดๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธถือเป็นการขัดต่อมติของคณะมนตรีความมั่นคง" เขากล่าวในถ้อยแถลง

เนื่องจากขีปนาวุธและจรวดพิสัยไกลที่ใช้สำหรับการยิงในอวกาศใช้เทคโนโลยีเดียวกัน นักวิเคราะห์กล่าวว่าการพัฒนาความสามารถในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรจะช่วยให้เกาหลีเหนือมีที่กำบังสำหรับการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ที่ถูกสั่งห้าม

ความล้มเหลวในวันพุธควรถูกมองว่าเป็นเพียงความพ่ายแพ้ชั่วคราวสำหรับคิมจองอึน ซึ่งจะยังคงพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และดาวเทียมต่อไป.

เพิ่มเพื่อน