ทุกวันนี้เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน อาจพำนักอยู่ในพระราชวังที่มีมากกว่าหนึ่งพันห้อง แต่เมื่อใดที่เขาปรากฏตัวต่อหน้าฝูงชนที่เป็นฐานเสียงของเขาในเขตชนชั้นแรงงานกาซิมปาซาของอิสตันบูล เช่นเดียวกับที่เขาทำในวันก่อนการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เขาก็ยังแสดงตัวว่าเป็นหนึ่งในฝูงชนเหล่านั้น
ประธานาธิบดีของตุรเกียคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกชายของกลาสีเรือ เคยโยกย้ายเข้ามาในเมืองและใช้ชีวิตวัยเยาว์อยู่ในย่านคับแคบบริเวณเชิงเมืองเก่า ที่นั่นเขาเคยเร่ขายน้ำเพื่อเก็บออมเป็นค่าขนม และที่นั่นเขาเคยใฝ่ฝันถึงอาชีพนักฟุตบอล บ้านเกิดตามอุดมการณ์ของแอร์โดอัน คือการเมืองแบบอิสลามในตุรเกียที่ถูกระงับมานาน สิ่งนี้ทำให้เขามีปากเสียงกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางศาสนาส่วนใหญ่ในต่างจังหวัด ซึ่งไม่รู้สึกว่าถูกชักนำโดยชนชั้นสูงที่เรียกว่า ‘ชาวเติร์กขาว’ จนกระทั่งเขาได้เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เขาจึงจัดการเรื่องนี้
เมื่อได้ตำแหน่งนายกเทศมนตรีของอิสตันบูล แอร์โดอันได้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยการวางท่อก๊าซ และออกกฎห้ามใช้ถ่านหินสกปรก เมื่อได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ริเริ่มโครงการพัฒนาในพื้นที่ห่างไกลที่ถูกทอดทิ้งมานาน แม้แต่ในแคว้นอนาโตเลียเขาก็ผลักดันให้ก่อเกิดกลุ่มชนชั้นกลางที่มั่นใจในตัวเองขึ้น และยังนำศาสนาเข้ามามีบทบาทในสังคมเพิ่มขึ้นด้วย
ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ด้วยนักการเมืองสายเศรษฐกิจที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีระดับนานาชาติจึงมีความเป็นไปได้ที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศเสริมความแข็งแกร่ง การเติบโตอย่างรวดเร็วนำไปสู่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบและชัดเจน มีการลงทุนในโรงพยาบาล สนามบิน เครือข่ายรถไฟความเร็วสูง และทางหลวง ท่ามกลางบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้น ปี 2005 สหภาพยุโรปเริ่มสนใจที่จะเจรจาภาคีกับตุรเกีย พรรค AKP ของแอร์โดอันถูกมองว่าเป็นพรรคของประชาชนแนวอนุรักษ์นิยม หลังจากความโกลาหลของการคอร์รัปชันในช่วงทศวรรษ 1990 แอร์โดอันก็ถูกจับตามองว่าเป็นสัญญาณแห่งความหวังในยุโรปเช่นกัน
แต่เมื่อแอร์โดอันครองตำแหน่งประธานาธิบดีนานวันเข้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเริ่มมองว่าตุรเกียกลับไม่เป็นประชาธิปไตยอีกต่อไป นับจากการเลือกตั้งที่ไม่อิสระและยุติธรรม การกวาดล้างและตั้งข้อหาฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการจำกัดเสรีภาพสื่อ มีการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อออนไลน์หลายครั้ง ระหว่างปี 2016-2017 มีสื่อมวลชนถูกกักขังในตุรเกียมากเป็นประวัติการณ์ กระทั่งประเทศตะวันตก รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนพากันประณาม ทั้งหมดนี้ทำให้การเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต้องหยุดชะงัก ถึงกระนั้นแอร์โดอันก็ยังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2018 เป็นวาระที่ 2 พร้อมระบบประธานาธิบดีใหม่ที่บ่อนทำลายการแบ่งแยกอำนาจ และให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีอย่างแทบไม่มีขีดจำกัด ทุกวันนี้แอร์โดอันแทบไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ในการทำตัวเป็นประธานาธิบดีของชาวเติร์กทั้งหมด เพราะแรงสนับสนุนจาก 51 เปอร์เซ็นต์ของประชากรก็เพียงพอแล้วสำหรับเขา
วิสัยทัศน์ของแอร์โดอันเกี่ยวกับ “ตุรเกียใหม่” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระบบการปกครองและตำแหน่งทางศาสนาเท่านั้น แต่เขายังมุ่งมั่นเพื่อให้ตุรเกียผูกพันกับความยิ่งใหญ่ในอดีต และถูกมองว่าเป็นขั้วอำนาจอิสระในภูมิภาคอีกครั้ง โดยมีอิทธิพลเหนือพรมแดนของประเทศ ปัจจุบันตุรเกียยังคงรักษาฐานทัพในซีเรียและอิรัก ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นดินแดนของอาณาจักรออตโตมัน กรณีพิพาทกับกรีซเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกมักเดือดพล่านเป็นประจำ เมื่อสามปีที่แล้วเคยถึงขั้นจะสู้รบกันด้วย
ประธานาธิบดีแอร์โดอันกำลังลงทุนกับการปรับปรุงกองกำลังติดอาวุธให้ทันสมัย แม้ว่าความสัมพันธ์ที่แตกหักกับพันธมิตรของนาโตจะทำให้มันยากขึ้นก็ตาม นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ตุรเกียต้องการสร้างอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนเองเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ กองทัพเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ แต่ไม่ใช่ปัจจัยแห่งอำนาจอีกต่อไป แอร์โดอันได้ลดทอนอิทธิพลทางการเมืองของนายพลทหาร แม้หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเดือนกุมภาพันธ์ เขาก็ยังลังเลที่จะส่งกองทัพไปช่วยเหลือประชาชน เพราะมันอาจตอกย้ำถึงความล้มเหลวในการจัดการของรัฐบาลมากขึ้น
แม้จะมีความไม่พอใจในหลายด้านอย่างกว้างขวาง แต่แอร์โดอันก็ยังได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก เพราะดูเหมือนว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าพวกเขาจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าภายใต้การปกครองของแอร์โดอัน แอร์โดอันเปลี่ยนแปลงตุรเกียมากกว่านักการเมืองคนใดก่อนหน้าเขา และการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเขาก็เป็นตัวเก็งที่ชัดเจน
วันที่ 29 ตุลาคมจะเป็นวันครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรเกีย แอร์โดอันให้คำมั่นว่ายุคใหม่ที่เรียกว่า “ศตวรรษตุรเกีย” จะเริ่มขึ้นภายใต้การนำของเขาแน่นอน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน' ในวัย 70 และสองทศวรรษในอำนาจ
เรเจป ไตยิป แอร์โดอันอยู่ในอำนาจมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ในฐานะนายกรัฐมนตรีและตั้งแต่ปี 2014 ในฐานะประธานาธิบดี เขาปกครองตุรเกียแบ