ยูเครนขอขีปนาวุธอากาศสู่พื้นจากเยอรมนี

กระทรวงกลาโหมเยอรมนีเผยว่า ยูเครนได้ร้องขอให้รัฐบาลเบอร์ลินจัดหาขีปนาวุธอากาศสู่พื้น 'Taurus' ซึ่งมีพิสัยไกลกว่า 500 กิโลเมตร

บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี (Photo by Britta Pedersen / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า ยูเครนซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมกองกำลังและสรรพาวุธเพื่อเปิดฉากตอบโต้แย่งชิงดินแดนที่ยึดครองโดยรัสเซียกลับคืนมา ได้ร้องขอขีปนาวุธอากาศสู่พื้น 'ทอรัส (Taurus)' จากรัฐบาลเยอรมนี ตามการระบุของกระทรวงกลาโหม

"เราได้รับคำขอจากฝ่ายยูเครนในช่วงไม่กี่วันมานี้" โฆษกกระทรวงกลาโหมเยอรมนีกล่าวโดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

คำขอดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ยูเครนเตรียมเปิดฉากโต้กลับรัสเซีย ในสงครามที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ผู้นำยูเครนตะเวนขออาวุธไปทั่วยุโรป ทั้งเครื่องบินและรถถัง หรือแม้แต่ระบบต่อต้านขีปนาวุธ ซึ่งหลายชาติให้การสนับสนุนมากพอสมควร รวมถึงคำขอไปยังเยอรมนีล่าสุด ที่ยังไม่แน่ว่าจะได้รับการตอบรับไปในทางใด

ทั้งนี้ ขีปนาวุธดังกล่าวที่ผลิตโดยบริษัททอรัส ซิสเท็ม (Taurus Systems) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเยอรมนีและสวีเดน จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ยูเครนสามารถโจมตีรัสเซียได้ด้วยพิสัยทำการมากกว่า 500 กิโลเมตร

สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ที่จัดหาอาวุธให้ยูเครนจนถึงตอนนี้ ต่างระมัดระวังในการส่งเสริมคลังอาวุธให้รัฐบาลเคียฟ โดยไม่เน้นให้มีการสู้รบเต็มรูปแบบ เพราะไม่ต้องการให้บานปลายจนรัสเซียต้องนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ และอาจทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไป

ก่อนหน้านี้ เยอรมนีถูกมองว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในการจัดหาอาวุธ แต่ท้ายที่สุดก็กลายเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่อันดับสองแก่ยูเครน รองจากสหรัฐฯ

ปัจจุบัน รัฐบาลเบอร์ลินกำลังเตรียมแพ็คเกจช่วยเหลือทางทหารครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งรวมถึงระบบต่อต้านขีปนาวุธ, รถถัง Leopard 1 (เลโอพาร์ด 1) เพิ่มเติมอีก 30 คัน, ยานเกราะต่อสู้มากกว่า 100 คัน และโดรนตรวจการณ์มากกว่า 200 ลำ แต่ยังสงวนท่าทีกับคำขอเครื่องบินรบและขีปนาวุธอากาศสู่พื้น.

เพิ่มเพื่อน