ไต้ฝุ่นมาวาร์เคลื่อนตัวผ่านเกาะกวมของสหรัฐฯ อย่างเชื่องช้าและรุนแรง จนทำให้ไฟฟ้าดับ ขณะที่ลมแรงพัดถล่มอาคารบ้านเรือนพังเสียหายในวงกว้าง นับเป็นพายุที่เลวร้ายที่สุดของมหาสมุทรแปซิฟิกในรอบหลายทศวรรษ
พายุไต้ฝุ่นมาวาร์พัดผ่านอ่าวทูมอนของเกาะกวมด้วยความเร็วลมสูงสุด 140 ไมล์ต่อชั่วโมง และมีลมกระโชกแรงถึง 175 ไมล์ต่อชั่วโมงหลังจากขึ้นฝั่ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม (Photo by James REYNOLDS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่น 'มาวาร์' เคลื่อนตัวด้วยแรงลมรุนแรงในมหาสมุทรแปซิฟิก และพาดผ่านเกาะกวมของสหรัฐฯ สร้างความเสียหายหนัก
ศูนย์เตือนภัยไต้ฝุ่นร่วมของสหรัฐฯ ระบุว่า พายุขึ้นฝั่งและเคลื่อนผ่านไปทางเหนือของเกาะ โดยมีลมกระโชกแรงถึง 140 ไมล์ (225 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง และคลื่นสูงถึง 9 เมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ
หน่วยงานไฟฟ้าของกวมเผยว่า แรงลมมหาศาลทำความเสียหายให้ระบบไฟฟ้าที่จ่ายไปยังพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะที่มีประชากรประมาณ 170,000 คน และเป็นการเสี่ยงเกินไปที่จะให้บุคลากรไปทำการซ่อมแซมในทันที จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับคืนที่มืดมิดยาวนานท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายและอันตราย
ลู ลีออน เกร์เรโร ผู้ว่าการเกาะกวมกล่าวว่า ตาของไต้ฝุ่นเคลื่อนผ่านช่องแคบโรตา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำระหว่างเกาะกวมและเกาะโรตาในมหาสมุทรแปซิฟิก
ก่อนหน้านี้ ทางการท้องถิ่นได้ออกคำสั่งอพยพและเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้สั่งการจากระยะไกลให้กวมประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อปูทางไปสู่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางวอชิงตัน
"ดิฉันกังวลเรื่องความปลอดภัยของประชาชน มาวาร์เป็นพายุลูกแรกที่มีความรุนแรงขนาดนี้ในรอบ 20 ปี" เกร์เรโรกล่าว
ศูนย์เตือนภัยฯแจ้งเตือนภัยคุกคาม 3 ประการจากการมาของไต้ฝุ่น ได้แก่ ฝนตกหนัก, ลมพายุรุนแรง และคลื่นพายุซัดฝั่งที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
หน่วยพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่า เกาะกวมจะได้รับปริมาณน้ำฝนสูง 10-15 นิ้ว โดยบางพื้นที่อาจมีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 20 นิ้วหรือมากกว่านั้น
ผู้คนได้รับคำสั่งให้หลบอยู่แต่ด้านในของตัวบ้านและอยู่ให้ห่างจากหน้าต่าง และห้ามออกไปข้างนอกในช่วงที่อากาศสงบชั่วคราว เนื่องจากเศษซากที่ปลิวว่อนอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
มีบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ และครอบครัวประมาณ 21,700 คนอยู่บนเกาะแห่งนี้ ภายใต้ภารกิจดูแลเรือดำน้ำโจมตีติดตั้งนิวเคลียร์และเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล
ดินแดนแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของฐานทัพอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของสหรัฐฯ และมีโรงเก็บกระสุนและเชื้อเพลิงที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิก
นอกจากนี้ เที่ยวบินราว 60 เที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกจากเกาะกวมระหว่างวันอังคารถึงวันพฤหัสบดีถูกยกเลิกไปแล้ว ตามรายงานของสนามบินนานาชาติกวมเอบีวอนแพ็ท
สภาพอากาศในเกาะกวมคาดว่าจะดีขึ้นในวันพฤหัสบดี แต่คาดว่าพายุจะทวีความรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งอาจกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นเหนือทะเลฟิลิปปินส์.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัปเดตเส้นทางดีเปรสชัน 'หยินซิ่ง' ทวีรุนแรงเป็น 'พายุโซนร้อน'
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถาการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ล่าสุดเช้าวันนี้ : ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก พายุดีเปรสชันได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "หยินซิ่ง (YINXING)" แล้ว
เลขาธิการสหประชาชาติเตือน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกส่งผลถึง 'ภัยพิบัติโลก'
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น แสดงความกังวลในการประชุมสุดยอดแปซิฟิกที่ตองกา การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
พยากรณ์อากาศ 10 วันล่วงหน้า พบสัญญาณการก่อตัว 'พายุไต้ฝุ่น'
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า
กรมอุตุฯ อัปเดตเส้นทางพายุไซโคลน 'ริมาล-เอวิเนียร์'
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุไซโคลน “ริมาล (REMAL)” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณตอนใต้ของประเทศบังคลาเทศแล้ว เมื่อเวลา 01.00 น.