สแกมเมอร์ในจีนใช้เทคโนโลยี AI ปลอมตัวเป็นเพื่อนนักธุรกิจของชายคนหนึ่งและหลอกยืมเงิน สูญหลายล้านหยวน
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Photo by Richard A. Brooks / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า สแกมเมอร์ หรือมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ ในประเทศจีน ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) ในการหลอกลวงเหยื่อ จนสูญเงินนับล้านหยวน
สื่อของรัฐในเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน เผยแพร่ข้อมูลว่า เหยื่อผู้เสียหายรายนี้ ใช้นามว่านายกั๋ว ได้รับวิดีโอคอลเมื่อเดือนที่แล้วจากบุคคลที่ปรากฏภาพและเสียงของเพื่อนสนิท แต่แท้จริงแล้วผู้โทรมาเป็นมิจฉาชีพ ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI อัจฉริยะเพื่อเปลี่ยนหน้าและเสียงให้เหมือนกับบุคคลที่เหยื่อรู้จัก เพื่อหลอกล่อขอยืมเงิน
จากนั้นนายกั๋ว ซึ่งหลงเชื่อตามภาพและเสียงในวีดีโอคอล ได้โอนเงินให้เพื่อนตัวปลอมเป็นจำนวน 4.3 ล้านหยวน (ประมาณ 21 ล้านบาท) หลังจากที่มิจฉาชีพอ้างว่าเพื่อนอีกคนต้องการเงินจากบัญชีธนาคารของบริษัทเพื่อจ่ายค้ำประกันการประมูล
มิจฉาชีพทำทีขอหมายเลขบัญชีธนาคารส่วนบุคคลของนายกั๋ว เพื่อหลอกว่าจะโอนเงินคืนให้ จากนั้นก็อ้างว่าได้โอนเงินคืนให้ทั้งหมดแล้ว พร้อมโชว์หลักฐานการโอนผ่านหน้าจอเพื่อยืนยัน
เมื่อมีการแจ้งเตือนจากธนาคารว่ามีเงินเข้าออกจากบัญชีตนเอง นายกั๋วจึงไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดและเชื่อใจการกระทำของเพื่อนปลอม
"ในตอนนั้น ผมได้เห็นหน้าและได้ยินเสียงของบุคคลที่วิดีโอคอลหาผมว่าเป็นเพื่อนที่ทำธุรกิจด้วยกันจริง ดังนั้นผมจึงไว้ใจและไม่ได้ตรวจสอบ" สื่ออ้างคำให้การของนายกั๋ว
นายกั๋วมารู้ตัวในภายหลังเมื่อได้สอบถามเพื่อนตัวจริงและพบว่า เพื่อนคนดังกล่าวไม่ได้ติดต่อไปขอยืมเงินแต่อย่างใด โดยคาดว่าเขาน่าจะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวก่อนหน้านี้ เพื่อนำไปหลอกลวงคนใกล้ชิด
นายกั๋วแจ้งตำรวจทันที เพื่อให้ยับยั้งการโอนเงินของธนาคาร ซึ่งโชคดีที่เขาสามารถกู้คืนเงินมาได้ 3.4 ล้านหยวน โดยธนาคารพยายามตามเงินอีก 9 แสนหยวนคืนมาให้ได้ แต่ก็ไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ในตอนนี้
หลุมพรางที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี AI ที่แปลกใหม่ได้รับความสนใจมากขึ้นตั้งแต่บริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ของสหรัฐอเมริกาเปิดตัวแชทจีพีที (ChatGPT) ซึ่งเป็นแชทบอทที่เลียนแบบคำพูดของมนุษย์
จีนได้ประกาศแผนการอันทะเยอทะยานที่จะเป็นผู้นำด้าน AI ระดับโลกภายในปี 2573 และบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง เช่น อาลีบาบา, เจดีดอทคอม, เน็ทอีส และไบท์แดนซ์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของติ๊กต็อก (TikTok) ได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน
ถึงแม้ ChatGPT จะไม่สามารถใช้งานได้ในจีน แต่ซอฟต์แวร์ของอเมริกาตัวนี้ก็กำลังได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานชาวจีนที่ใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือนเพื่อเข้าถึงแชทบอทดังกล่าว และนำมาใช้งานด้านการเขียนเรียงความและทำข้อสอบ รวมทั้งการใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านอาชญากรรม
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงออกร่างกฎหมายที่เสนอเมื่อเดือนที่แล้วโดยหน่วยงานควบคุมอินเทอร์เน็ท กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ AI ใหม่ทั้งหมดต้องผ่าน "การประเมินความปลอดภัย" ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตม.นครพนม คุมเข้มสกัด 'แก๊งสแกมเมอร์ทิพย์' ปมเจ๊อ้อยโอนเงิน 39 ล้าน
กรณี ตำรวจกองปราบปราม กองบังคับการ 3 ร่วมกับชุดสืบสวนของกองกำกับการ 5 ตำรวจทางหลวง นำกำลังเข้าสกัดจับกุม ทนายตั้ม-นายษิทรา เบี้ยบังเกิด อายุ 43 ปี ในคดีหลอกลวงเงิน น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย ตามหมายจับศาลอาญา