ปาปัวนิวกินีลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ โดยให้กองกำลังสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงสนามบินและท่าเรือของตนได้ ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันเร่งขยายพื้นที่พันธมิตรในภูมิภาคแปซิฟิก หวังสกัดอิทธิพลจีน
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ (ซ้าย) และวิน บากรี ดากี รัฐมนตรีกลาโหมปาปัวนิวกินี (ขวา) แสดงเอกสารความร่วมมือด้านกลาโหมที่ได้รับการลงนาม โดยมีนายกรัฐมนตรีเจมส์ มาราเป ของปาปัวนิวกินี (ยืนด้านหลัง)
เป็นสักขีพยาน ระหว่างการประชุมฟอรัมความร่วมมืออินเดีย-หมู่เกาะแปซิฟิก ในเมืองพอร์ตมอร์สบี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม (Photo by ADEK BERRY / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันซึ่งมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการแผ่อิทธิพลของจีนในแปซิฟิก ได้พยายามโน้มน้าวใจนานาประเทศด้วยสิ่งจูงใจทางการทูตและการเงินเพื่อแลกกับการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์
ล่าสุด สหรัฐฯประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมกับปาปัวนิวกินี ประเทศในแถบโอเชียเนียของมหาสมุทรแปซิฟิก
วิน บากรี ดากี รัฐมนตรีกลาโหมปาปัวนิวกินีได้ลงนามในข้อตกลงกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ก่อนเริ่มการประชุมระหว่างสหรัฐฯ และผู้นำ 14 รัฐของเกาะแปซิฟิกใต้ในเมืองหลวงพอร์ตมอร์สบี
"ข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมเสร็จสิ้นแล้ว" นายกรัฐมนตรีเจมส์ มาราเป กล่าวในพิธีลงนาม พร้อมเสริมว่าเกาะแปซิฟิกแห่งนี้กำลังยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา
บลิงเคนกล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงที่ "โปร่งใสอย่างเต็มที่" แต่ละประเทศจะสามารถขึ้นเรือของอีกฝ่ายได้, มีการแบ่งปันความเชี่ยวชาญทางเทคนิค และร่วมลาดตระเวนในทะเลด้วยกัน
"ข้อตกลงที่เราบรรลุและงานที่เรากำลังทำ ไม่เกี่ยวกับประเทศอื่นใด ทุกอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับหมู่เกาะแปซิฟิกและวิสัยทัศน์ร่วมกันที่เรามีต่อภูมิภาคนี้" บลิงเคนกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อสิ้นสุดการประชุม โดยกระทบชิ่งถึงจีน
ในสัญญาณของการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเหนือแปซิฟิกใต้ บลิงเคนไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของมหาอำนาจเพียงชาติเดียวที่มุ่งต่อต้านการปรากฏตัวทางเศรษฐกิจ, การเมือง และการทหารของรัฐบาลปักกิ่งที่กำลังขยายอิทธิพล
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียเพิ่งเดินทางมาเยือนปาปัวนิวกินีเช่นกัน เพื่อยืนยันบทบาทของประเทศในฐานะมหาอำนาจระดับภูมิภาค
"เราสนับสนุนอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และครอบคลุม เราเคารพอำนาจอธิปไตยและความสมบูรณ์ของทุกประเทศ" โมดีกล่าวกับผู้นำในแปซิฟิกไว้ก่อนหน้านี้
การลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงกับปาปัวนิวกินี ทำให้รัฐบาลวอชิงตันขยายขีดความสามารถของกองทัพสหรัฐฯ เพื่อประจำการในภูมิภาค
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า นอกเหนือไปจากข้อตกลงด้านความมั่นคง สหรัฐฯ ให้คำมั่นจะสนับสนุนเงินทุน 45 ล้านดอลลาร์ให้ปาปัวนิวกินี เพื่อจัดการกับกลุ่มอาชญากร, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคเอดส์ รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันสำหรับกองทัพ
เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลปักกิ่งได้ลงนามในสนธิสัญญารักษาความปลอดภัยอย่างลับๆ กับหมู่เกาะโซโลมอนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอนุญาตให้จีนส่งกำลังทหารไปยังหมู่เกาะฯได้
เหมา หนิง โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า จีนจะไม่คัดค้านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือตามปกติระหว่างประเทศต่างๆ แต่ขอเตือนการใช้ความร่วมมือเหล่านั้นเป็นข้ออ้างการมีส่วนร่วมในเกมภูมิรัฐศาสตร์ของมหาสมุทรแปซิฟิก
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงด้านกลาโหมดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งในปาปัวนิวกินี เนื่องจากความกังวลว่าจะทำให้กองกำลังสหรัฐฯ มีอำนาจมากเกินไปในจุดทางเข้าสำคัญบางแห่งของประเทศ
ในพอร์ตมอร์สบี นักศึกษาจำนวนมากมารวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยปาปัวนิวกินีในช่วงเย็น โดยมีบางคนจุดไฟเผายางรถยนต์และมีการปาก้อนหินใส่รถที่สัญจรไปมา แม้จะมีการรักษาความปลอดภัยระดับสูงในเมืองหลวง ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัปเดตเส้นทางดีเปรสชัน 'หยินซิ่ง' ทวีรุนแรงเป็น 'พายุโซนร้อน'
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถาการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ล่าสุดเช้าวันนี้ : ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก พายุดีเปรสชันได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "หยินซิ่ง (YINXING)" แล้ว