ประชาชนหลายหมื่นคนในเมืองท่าสำคัญของเมียนมาถูกตัดขาดจากการติดต่อ หลังจากพายุไซโคลนโมคาพัดถล่มทางตะวันตกของประเทศ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย
ความเสียหายส่วนหนึ่งในเมืองจ็อกตอของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม หลังจากพายุไซโคลนโมคาพัดขึ้นฝั่ง (Photo by Sai Aung MAIN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า พายุไซโคลนโมคาพัดขึ้นฝั่งระหว่างเมืองคอกซ์ บาซาร์ในบังกลาเทศกับเมืองท่าซิตตเวของเมียนมา ด้วยความเร็วลมสูงถึง 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นพายุลูกใหญ่ที่สุดที่พัดถล่มอ่าวเบงกอลในรอบกว่าทศวรรษ
เมื่อช่วงสายของวันอาทิตย์ พายุได้พัดผ่านค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเกือบล้านคนในบังกลาเทศท่ามกลางความลุ้นระทึก แต่โชคดีที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ด้านเมืองท่าซิตตเวของเมียนมา ซึ่งมีประชากรประมาณ 150,000 คน ยังคงเสียหายต่อเนื่องจากความรุนแรงของพายุและถูกตัดขาดจากการสื่อสารและความช่วยเหลือในวันจันทร์
ถนนหนทางในซิตตเวเต็มไปด้วยต้นไม้, เสา และสายไฟ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของผู้คนรวมทั้งยานพาหนะของหน่วยกู้ภัยที่พยายามไปยังพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ
พายุพัดขึ้นฝั่งเมื่อวันอาทิตย์ ทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งและลมแรงพัดเสาสื่อสารในเมืองซิตตเวโค่นล้ม ตามภาพที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์
สื่อในเครือรัฐบาลทหารรายงานว่า พายุได้ทำให้สถานีฐานหลายร้อยแห่งที่เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือกับเครือข่ายผู้ให้บริการ หยุดทำงานในรัฐยะไข่ รวมทั้งระบบอินเทอร์เน็ต
มิน อ่อง หล่าย หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมการบรรเทาทุกข์ด้านการขนส่งที่สนามบินซิตตเว ตามรายงานจากสื่อของรัฐ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะมีการบรรเทาทุกข์เมื่อใด
ทีมข้อมูลของรัฐบาลทหารระบุในถ้อยแถลงว่า "มีรายงานผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 ราย และประชาชนบางส่วนได้รับบาดเจ็บจากผลกระทบของพายุ" พร้อมเสริมว่าผู้เสียชีวิต 2 รายเป็นชาวรัฐยะไข่ และอีก 1 รายมาจากภูมิภาคอิระวดีทางตอนใต้ ขณะที่บ้านเรือน 864 หลังและโรงพยาบาลหรือคลินิก 14 แห่งได้รับความเสียหายทั่วประเทศ
รัฐบาลทหารเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติสำหรับการตอบสนองต่อภัยพิบัติ พวกเขาถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นความช่วยเหลือฉุกเฉินและในตอนแรกปฏิเสธที่จะให้การเข้าถึงเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมและสิ่งของต่างๆ.