ทวิตเตอร์ได้ซีอีโอคนใหม่ หญิงแกร่งจากวงการโฆษณา

อีลอน มัสก์ได้เลือกผู้บริหารระดับสูงด้านโฆษณาอย่างลินดา ยัคคาริโน ให้มากุมบังเหียนทวิตเตอร์แทนตัวเขา เพื่อพลิกฟื้นผลประกอบการของแพลตฟอร์มที่ประสบปัญหาตั้งแต่ซีอีโอเทสลาเทคโอเวอร์มาเมื่อปีที่แล้ว

อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ (ซ้าย) แต่งตั้งให้ลินดา ยัคคาริโน (ขวา) เป็นซีอีโอคนใหม่ของแพลตฟอร์มนกสีฟ้า (Photo by Angela Weiss and D Dipasupil / various sources / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ ได้เปิดตัวซีอีโอคนใหม่ของแพลตฟอร์มนกสีฟ้า โดยได้ผู้บริหารโฆษณาคนเก่งจากเอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล (NBCUniversal) คือลินดา ยัคคาริโน มากุมบังเหียนธุรกิจออนไลน์ที่กำลังประสบปัญหาด้านผลประกอบการและภาระหนี้มหาศาล

ปัจจุบันทวิตเตอร์กำลังดิ้นรนอย่างหนัก หลังประสบแต่ความวุ่นวายนับตั้งแต่อีลอน มัสก์ซื้อธุรกิจมาบริหารเอง เขาสั่งปลดพนักงานออกไปหลายพันคน, ใช้นโยบายเก็บเงินค่าบริการ, สั่งแบนบัญชีใช้งานผู้เห็นต่าง รวมถึงการสูญเสียรายได้จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกหดตัวซึ่งส่งผลให้ผู้ซื้อโฆษณาขาดความเชื่อมั่นและยกเลิกการทำธุรกิจด้วย

ซีอีโอคนใหม่จะเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการในทันที และต้องเผชิญกับการต่อสู้ที่ยากเย็นแสนเข็ญในการพยายามจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อโฆษณา ท่ามกลางความหวาดกลัวแนวคิดของมัสก์ที่พร้อมต้อนรับนักทฤษฎีสมคบคิดและผู้สร้างเนื้อหาขวาจัดให้กลับมาที่แพลตฟอร์มดังเดิม

ลินดา ยัคคาริโน ลาออกจากบริษัทที่เป็นเจ้าของเอ็นบีซี (NBC), ยูนิเวอร์แซล (Universal) และเทเลมุนโด (Telemundo) ซึ่งเธอทำงานมานานกว่า 12 ปี ก่อนจะได้รับโอกาสสัมภาษณ์มัสก์ในการประชุมด้านมาร์เก็ตติ้งในไมอามี และนำมาซึ่งตำแหน่งผู้บริหารคนใหม่ในที่สุด

ถึงแม้จะก้าวลงจากตำแหน่งบริหาร แต่อีลอน มัสก์จะยังคงมีบทบาทด้านการออกแบบและเทคโนโลยีของทวิตเตอร์ โดยซีโอคนใหม่จะดูแลการดำเนินงานทางธุรกิจ ขณะที่ตัวเขาจะดูแลงานออกแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยตั้งเป้าให้ทวิตเตอร์แปลงตัวเองเป็น 'แอพสำหรับทุกสรรพสิ่ง' ที่จะมีชื่อเรียกว่าเอ็กซ์ (X)

มัสก์มีความหลังกับอักษรเอ็กซ์ มาตั้งแต่ปี 2542 เมื่อเขาร่วมพัฒนาเอ็กซ์ดอทคอม (X.com) ซึ่งเป็นธนาคารออนไลน์ที่ซื้อมาและต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเพย์พาล (PayPal) ในปัจจุบัน

มัสก์ต้องการปรับปลี่ยนทวิตเตอร์ให้เป็น 'แอพสำหรับทุกสรรพสิ่ง' ในรูปแบบธุรกิจเดียวกันกับวีแชท (WeChat) ของจีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คล้ายกับทวิตเตอร์ แต่มีบริการรับส่งข้อความและชำระเงินผ่านมือถือด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมปีที่แล้ว มัสก์ควักเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อกิจการของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เขาชื่นชอบ และดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์กรในแบบฉบับของตัวเอง จนเกิดปัญหาและความวุ่นวายทั้งต่อตัวพนักงาน, ผลิตภัณฑ์, รายได้ และผู้ใช้บริการ มีการเลิกจ้างจำนวนมาก, การกลับมาของบัญชีที่ถูกแบนหลายพันบัญชี และผู้ลงโฆษณารายใหญ่ที่ถอนตัวไป อีกทั้งความโกลาหลดังกล่าวยังสร้างผลกระทบด้านลบไปยังกิจการอื่นๆของเขาด้วย โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ได้เคยเกริ่นไว้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารทวิตเตอร์ และจะจำกัดหน้าที่ของตัวเองไว้ที่การบริหารงานวิศวกรรมซอฟต์แวร์และเซิร์ฟเวอร์เพียงเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อีลอน มัสก์ หนึ่งในคนร่ำรวยระดับโลกที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โดนัลด์ ทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์ค่อยเบาใจเรื่องเงินทองที่ต้องใช้ในการรณรงค์หาเสียงลงได้บ้าง เมื่ออีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ข

สื่อจ้องจับผิด 'อีลอน มัสก์' กรณีเสพยา

ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกถูกตั้งข้อสงสัยว่าใช้คีตามีน เห็ดเมา และเอซิด สื่อในอเมริการายงานข่าวโดยอ้างถึง “สภาพแวดล้อมที่น่ากังวล” ของอีลอน มัสก์