เมื่อเดือนเมษายน 2022 รัฐสภาปากีสถานได้ถอดถอน อิมราน ข่าน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันเขาถูกลอบทำร้าย กระสุนปืนสามนัดเจาะเข้าที่ขาของเขา เดือนมีนาคมปีนี้กองกำลังความมั่นคงของปากีสถานพยายามบุกเข้าไปในบ้านของเขา แต่หลังจากปะทะกับกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาอยู่นานหลายชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็ล่าถอยกลับไป
วันอังคารที่ผ่านมา กองกำลังกึ่งทหารของปากีสถานจับกุมอิมราน ข่านได้ในเมืองหลวงอิสลามาบัด ก่อนหน้านี้ข่านออกจากบ้านในย่านหรูของเมืองลาฮอร์เพื่อเดินทางไปขึ้นศาล ซึ่งเขาถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชัน แต่เขากลับไม่ไปปรากฏตัว กองกำลังกึ่งทหารฝ่าวงล้อมบอดี้การ์ดของข่านและจับตัวเข้าขึ้นรถตู้สีดำ ขณะนี้การประท้วงทั่วประเทศกำลังทำให้ปากีสถานกลายเป็นอัมพาต
อิมราน ข่านเป็นใคร? ที่สามารถทำให้ปากีสถานต้องนิ่งงัน
ปีที่แล้วข่านรู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้าในประเทศของตัวเอง เขาบอกกับสื่อตะวันตก ไม่ใช่แค่เหมือนคนแปลกหน้า แต่เหมือนเป็นศัตรูของชาติ เขาอายุ 70 ปี เกิดเมื่อห้าปีก่อนที่ปากีสถานจะได้รับเอกราช เขาเติบโตขึ้นในบ้านที่ลาฮอร์ ครอบครัวค่อนข้างมีฐานะ แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำทางการเมืองหรือการเงินของปากีสถาน
เขาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศมานาน 50 ปีแล้ว นานกว่าชาวปากีสถานคนอื่นๆ เคยได้รับสิทธิพิเศษในสังคมมาตลอด ผู้คนยอมรับเขาในฐานะนักกีฬาคริกเก็ตประจำชาติ รวมถึงตอนที่เขาก้าวเข้าสู่การเมืองด้วย
คริกเก็ตเป็นกีฬาที่มีความหมายในปากีสถาน พอๆ กับฟุตบอลในบราซิล อิมราน ข่านติดเข้าทีมชาติปากีสถานครั้งแรกในปี 1971 เป็นชายหนุ่มที่ขยันขันแข็งและมั่นใจในตัวเองอย่างเหลือเชื่อ ในช่วงทศวรรษ 1970 เขาร่ำเรียนด้านการเมืองที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและเป็นนักกีฬาทีมมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมทีมเคยกล่าวถึงเขาว่า นักกีฬาคนอื่นๆ ในทีมเป็นนักศึกษาที่ส่วนใหญ่สมัครเข้าไปเพราะอยากเล่น แต่อิมราน ข่านเป็นนักกีฬาที่เล่นแบบเอาเป็นเอาตาย
ปี 1982 ข่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมชาติ เขากลายเป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ จัดลำดับว่าใครจะตีหรือขว้างลูกเมื่อไหร่ สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ในช่วงเวลานั้นคือ การยอมรับความพ่ายแพ้ “สิ่งยากที่สุดคือ การลุกขึ้นสู้เมื่อคุณแพ้ คนส่วนใหญ่แพ้แล้วยอมจำนน แต่ถ้าคุณอยากก้าวหน้าในชีวิต คุณต้องรับมือกับช่วงเวลาที่เลวร้ายให้ได้” ภายหลังเรียนจบเขายังคงเล่นคริกเก็ตและเป็นดาวเด่นในอังกฤษต่อไป
หลังจบการแข่งขันเขาไม่ได้ไปนั่งดื่มกับเพื่อนร่วมทีมในผับ แต่จะนั่งรถไฟเข้ากรุงลอนดอน ข่านชอบท่องราตรีในเมืองใหญ่ เขาชอบไปเที่ยวไนต์คลับชื่อ Tramp ที่ซึ่งมีเอลตัน จอห์น หรือจอร์จ เบสต์เป็นขาประจำ และเขาชอบดื่มนมแทนแชมเปญ ข่านมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มากมาย ครั้งหนึ่งสื่อในอังกฤษเคยตีพิมพ์ภาพถ่ายเขาในชุดกางเกงในตัวเดียว เขาปรากฏอยู่ในข่าวซุบซิบของลอนดอนเป็นประจำ ข่านกลายเป็นมากกว่ากัปตันทีมคริกเก็ต รวมถึงในปากีสถานด้วย
ปากีสถาน ประเทศที่ประสบกับวิกฤตอัตลักษณ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง – โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ก่อตั้งรัฐเสียชีวิตในปี 1948 หนึ่งปีหลังจากปากีสถานได้รับเอกราช จากนั้นประเทศก็เริ่มแตกแยก ในทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากอังกฤษแบ่งดินแดนออกเป็นปากีสถานตะวันตกและตะวันออกก่อนที่พวกเขาจะจากไป โดยมีอินเดียที่เป็นปรปักษ์อยู่ระหว่างนั้น (ปากีสถานตะวันออกได้รับเอกราชในปี 1971 และกลายเป็นบังกลาเทศ) และปากีสถานก็ขาดอุดมการณ์เช่นกัน เพราะจินนาห์เสียชีวิตก่อนที่จะชัดเจนว่าเขาต้องการประเทศแบบไหน แบบรัฐอิสลามที่เคร่งครัด หรือเป็นสากลภายใต้การนำของมุสลิม
อิมราน ข่าน กัปตันทีมคริกเก็ต ดูเหมือนจะมีครบทุกสิ่งอย่าง เป็นชาวมุสลิมที่มีความเป็นสากล เคร่งศาสนา และมีความมั่นใจ ใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสียามราตรีในกรุงลอนดอนหรือบนภูเขาที่สงบเงียบในปากีสถานได้อย่างกลมกลืน จากข่านผู้สามารถรอบด้านกลายเป็นข่านสำหรับทุกคน ในปี 1992 เขาได้รับรางวัล Cricket World Cup และมันเป็นเกมสุดท้ายของเขาในฐานะนักกีฬามืออาชีพ
หลังจากนั้นข่านก็ใช้เวลานานอยู่ใน ‘ความทุรกันดารทางการเมือง’ อย่างที่เขาเรียก เขาสามารถเข้าร่วมหนึ่งในสองพรรคใหญ่ของประเทศ แต่เขากลับเลือกที่จะก่อตั้งพรรค Pakistan Tehreek-e Insaf (PTI) ขึ้นเอง เมื่อปี 2005 หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษสรุปชีวิตทางการเมืองช่วงปีแรกของข่านดังนี้ “ความคิดและพันธมิตรของข่าน ตั้งแต่เขาเข้าสู่การเมืองในปี 1996 ได้เซถลาและไถลไปเหมือนรถลากท่ามกลางสายฝน” เขาเป็นข่านสำหรับทุกคน ครั้งหนึ่งเคยเป็นพวกหัวรุนแรงทางศาสนา แล้วก็เปลี่ยนเป็นนักปฏิรูปสากลอีกครั้ง
ในมุมมองของนักวิชาการ อาชีพทางการเมืองของข่านประสบความสำเร็จได้จากการสนับสนุนของกองทัพเท่านั้น ปี 2018 เหล่านายพลได้จัดการเลือกตั้งและหนุนให้ข่านเป็นนายกรัฐมนตรี ปากีสถานมีประชากรถึง 230 ล้านคน มีจีดีพีต่ำกว่าประเทศเล็กๆ ในยุโรป แต่ก็มีกองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และไม่มีใครปกครองปากีสถานได้นานโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกองทัพ
ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนในปากีสถานดำรงตำแหน่งครบวาระ 5 ปี เมื่อใดก็ตามที่พวกนายพลคิดอยากทำรัฐประหาร พวกเขาก็จะทำ ในระหว่างนั้นมีสองตระกูลที่มีอำนาจร่วมกัน คือ บุตโต และชารีฟ ปัจจุบัน เชห์บาซ ชารีฟดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นาวาซ-น้องชายของเขาเคยนั่งตำแหน่งนี้มาก่อน แต่ทุกวันนี้ยังลี้ภัยอยู่ในลอนดอน หลังจากถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานคนปัจจุบันคือ บิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี แม่ของเขา-เบนาซีร์ บุตโต เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยักยอกเงินหลายล้านฟรังก์ไปฝากไว้ในธนาคารสวิสระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เดือนเมษายน 2022 รัฐสภาถอดถอนอิมราน ข่านออกจากตำแหน่ง เหตุผลน่าจะเป็นเพราะเขาบรรจุตำแหน่งทางทหารตามดุลยพินิจของตนเอง และดำเนินนโยบายต่อต้านอเมริกาโดยโน้มเอียงไปผูกไมตรีกับจีนและรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เขาเคยเปิดเผยกับสื่อตะวันตกประเด็นสงครามในยูเครนว่า ปากีสถานควรวางตัวเป็นกลางระหว่างรัสเซียและยูเครน ปากีสถานต้องการน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย ต้องการข้าวสาลี ต้องการสร้างท่อส่งก๊าซโดยได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย การอ้างศีลธรรมมีแต่จะทำลายความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ เท่านั้น
ข่านเชื่อว่าการถอดถอนเขาพ้นจากตำแหน่งอาจมีวอชิงตันอยู่เบื้องหลัง และนี่อาจเป็นจุดอวสานทางการเมืองของเขาแล้วก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมองว่าฝ่ายตรงข้ามประเมินความนิยมของผู้สนับสนุนข่านต่ำเกินไป เพราะความนิยมของเขาสูงกว่านักการเมืองคนอื่นๆ ถึงขนาดเทียบเท่า ซัลฟิการ์ อาลี บุตโตในช่วงทศวรรษ 1960 บิดาของเบนาซีร์ บุตโตเคยเป็นขวัญใจประชาชนในยุคนั้น ที่ถูกทหารสังหารในเวลาต่อมา
ข่านและผู้สนับสนุนของเขาปิดกั้นทางการเมืองของปากีสถานมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว หลายคดีกำลังรอเล่นงานเขาอยู่ โดยเฉพาะจากฝ่ายตรงข้าม เขาและลูกพรรคตอบโต้ด้วยการร้องเรียน ข่านบอก แผนลอบทำร้ายเขาน่าจะเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันของหน่วยข่าวกรองทหาร นายกรัฐมนตรี และมหาดไทย ตำรวจจับกุมวัยรุ่นอิสลามคนหนึ่งในที่เกิดเหตุได้ แต่กองทัพปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างหนักแน่น
การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปากีสถานถูกกำหนดให้มีขึ้นในปีนี้ แต่ไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ และหลังจากอิมราน ข่านถูกจับกุม การเลือกตั้งเสรีดูเหมือนจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้นไปอีก หรือถ้าหากมีการเลือกตั้งเสรีเกิดขึ้นจริง ข่านก็อาจมีโอกาสชนะ “เราต้องการความสมดุลของพลเรือนและทหาร เราไม่สามารถใช้ระบบที่มีผมรับผิดชอบทั้งหมดในฐานะนายกรัฐมนตรี ในขณะที่อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของกองทัพ”
อิมราน ข่านปรารถนาจะเป็นข่านสำหรับทุกคนอีกครั้ง เพียงแต่กองทัพไม่เชื่อเขา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
'ความโอหังเป็นที่ประจักษ์' กลอนเจ็บจิ๊ดของพี่คนดี
เพจเฟซบุ๊ก P.khondee ( พี่คนดี กวีสมัครเล่น) ได้โพสต์กลอน
เปิดผลสอบ 'กสม.' ชี้ชัด 'ทักษิณ' อภิสิทธิ์ชน ยื่น ป.ป.ช. ฟัน 'เรือนจำ-รพ.ตำรวจ'
กสม. สอบร้องเรียนปม 'ทักษิณ' ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ชี้ชัด 'เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ-รพ.ตำรวจ' เลือกปฏิบัติละเมิดสิทธิ ยื่น ป.ป.ช.ฟัน
บี้ 'อัยการสูงสุด' เคลียร์ปม 'ทักษิณ' โวยคดี 112 ผลไม้พิษ โดนยัดข้อหา
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อสส. ต้องชี้แจง ข้อกล่าวหาของ "ทักษิณ"
'ทอ.' กาง 2 แผนรับ 'แป้ง นาโหนด' แจงเหตุใช้ C-130 แทนแอร์บัส
ทอ. กาง 2 แผนปฏิบัติภารกิจ 13 ชม. รับ 'แป้ง นาโหนด' จากอินโดนีเซียกลับไทย ส่ง 'หน่วยคอมมาโด-หนุมาน' คุมเข้ม แจงเหตุใช้ C-130 แทนแอร์บัส 320
'แป้ง นาโหนด' จุดกระแสปฎิรูป 'กระบวนการยุติธรรมไทย'
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แป้ง นาโหนด : จุดกระแสปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย