บรรดาผู้นำร่วมแสดงความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงของเมียนมา ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

สมาชิกประชาคมอาเซียนเปิดประเด็นการประชุมสุดยอดด้วยการแสดงความกังวลต่อความรุนแรงในเมียนมา พร้อมประณามการโจมตีขบวนรถนักการทูตเมื่อเร็วๆ นี้

(จากซ้ายไปขวา) ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์, นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์, ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย, นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย, นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน ของลาว, สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน, นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา, นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย และนายกรัฐมนตรีตาอูร์ มาตัน รูอัก ของติมอร์-เลสเต ถ่ายภาพร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม (Photo by BAY ISMOYO / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำชาติอาเซียนในเมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนีเซีย ล่วงเข้าสู่วันที่สอง โดยเป็นการหารือของบรรดาผู้นำของชาติต่างๆ และความรุนแรงที่ยังไม่จบสิ้นในเมียนมาได้ถูกหยิบยกมาประเด็นหลัก

เมียนมาที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร ตกอยู่ในความวุ่นวายมาตลอดนับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพต่อรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว เพราะมีการปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยความรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ใช้การทูตในเวทีระหว่างประเทศเพื่อร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ไม่เคยสัมฤทธิ์ผลเพราะรัฐบาลทหารไม่ให้ความร่วมมือ จนหลายฝ่ายมองว่าเวทีอาเซียนไร้น้ำยาและเป็นเพียงเสือกระดาษ พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนดำเนินการให้เด็ดขาดกว่าเดิมเพื่อยุติความรุนแรง

"เรากังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบในทันที เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ปลอดภัยและทันท่วงที รวมถึงการเจรจาระดับชาติ" บรรดาผู้นำอาเซียนกล่าวในแถลงการณ์

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมายังคงเพิกเฉยต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และปฏิเสธที่จะเจรจาประณีประณอมกับฝ่ายตรงข้ามในประเทศ ซึ่งรวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่, กองกำลังป้องกันประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ

เหตุรุนแรงล่าสุดที่มีการรายงานคือ การโจมตีทางอากาศใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งถูกระบุว่าเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏเมื่อเดือนที่แล้ว และมีรายงานผู้เสียชีวิตประมาณ 170 คน ก่อให้เกิดเสียงประณามจากทั่วโลก และทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลทหารแย่ลงไปอีก

แรงกดดันของที่ประชุมอาเซียนเพิ่มขึ้นล่าสุด จากกรณีขบวนรถที่บรรทุกนักการทูตและเจ้าหน้าที่ที่ประสานงานด้านการบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมของอาเซียนในเมียนมาถูกยิงโจมตีเมื่อวันอาทิตย์


ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมว่า เขามั่นใจว่ากลุ่มชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติสามารถจัดการกับความท้าทายระดับโลกที่เพิ่มขึ้นได้ หากสมาชิกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

"ด้วยความสามัคคี อาเซียนจะสามารถมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดสันติภาพและการเติบโตพัฒนา" วิโดโดกล่าวผ่านล่ามขณะเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำ

การเป็นประธานการประชุมของอินโดนีเซียในปีนี้ได้เพิ่มความหวังว่าอาเซียนจะสามารถผลักดันให้เกิดทางออกอย่างสันติได้ โดยใช้ปัจจัยทางเศรษฐกิจและประสบการณ์ทางการทูต

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ประเทศของเธอกำลังใช้ "การทูตแบบเงียบ" เพื่อพูดคุยกับทุกฝ่ายในความขัดแย้งของเมียนมา และกระตุ้นความพยายามสร้างสันติภาพอีกครั้ง

แต่เธอก็ออกตัวว่า อาเซียนเองก็กำลังอยู่บนทางแยกที่ต้องเดินต่อ หากเกิดความล้มเหลวในการจัดการกับเมียนมาและเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ในภูมิภาค ก็จำเป็นที่ประชาคมต้องเลือกเส้นทางที่ถูกต้องและลดความเกี่ยวข้องใดๆกับประเด็นที่แก้ไขไม่ได้

ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงในเมียนมาจะยิ่งทวีความน่ากังวลขึ้นไปอีกหากไม่สามารถหาทางออกได้โดยเร็ว เพราะอินโดนีเซียกำลังจะส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่ลาวซึ่งปกครองด้วยคอมมิวนิสต์ ซึ่งนั่นอาจทำให้เมียนมาหลุดจากการกดดันและสามารถกลับเข้ามาอยู่ในกลุ่มได้ดังเดิม รวมทั้งการอนุญาตให้รัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน

หลักการฉันทามติและการไม่แทรกแซงกฎบัตรของอาเซียนได้ขัดขวางความก้าวหน้าในการหยุดยั้งความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่มีต่อประชาคมฯ รวมไปถึงความแตกแยกในหมู่สมาชิกจากประเด็นเมียนมาและประเด็นอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้ จะยิ่งเป็นบ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของภูมิภาคนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กจวบ' ประชุมแผนรับตัว 'แป้ง นาโหนด' กลับไทยพรุ่งนี้

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อก่อนเข้าประชุมเตรียมความพร้อมรับตัวนายเชาวลิต ทองด้วย หรือ แป้ง นาโหนด ผ่านระบบ Zoom Meeting ว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์

อึ้งไม่ฟุ่มเฟือย! 'รมว.ยธ.' ใช้งบ 6 แสน รับตัว 'แป้ง นาโหนด'

'ทวี' แจงงบใช้ 6 แสน นำตัว ‘แป้ง นาโหนด’ กลับไทยดำเนินคดี ยันถูกกว่าใช้เครื่องบินพาณิชย์ เผยตำรวจหารือราชทัณฑ์ ส่งเข้าส่วนกลางได้หรือไม่

นายกฯ ชื่นชมอินโดฯ ให้ความร่วมมือดีมากจับ 'แป้ง นาโหนด'

นายกฯ เผยทางการอินโดฯ ให้ความร่วมมือไทยอย่างดี ในการจับกุม ”แป้ง นาโหนด“ นำตัวกลับไทย 4 มิ.ย.นี้ ยันดำเนินการตามกม. ตามสิทธิผู้ต้องหาพึงได้รับ