ถกด่วนประเด็นความรุนแรงของเมียนมา ในที่ประชุมผู้นำอาเซียน

บรรดาผู้นำชาติอาเซียนกำหนดให้ประเด็นความรุนแรงในเมียนมาเป็นวาระสำคัญที่จะหยิบยกมาหารือร่วมกันในที่ประชุมในอินโดนีเซีย

บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศชาติอาเซียนร่วมถ่ายรูปก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม (Photo by Achmad Ibrahim / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำชาติอาเซียนเริ่มขึ้นแล้วที่อินโดนีเซีย โดยประเด็นความรุนแรงที่ยังไม่จบสิ้นในเมียนมาจะถูกหยิบยกมาประเด็นหลักในการหารือ

เมียนมาที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร ตกอยู่ในความวุ่นวายมาตลอดนับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพต่อรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว เพราะมีการปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยความรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ใช้การทูตในเวทีระหว่างประเทศเพื่อร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ไม่เคยสัมฤทธิ์ผลเพราะรัฐบาลทหารไม่ให้ความร่วมมือ จนหลายฝ่ายมองว่าเวทีอาเซียนไร้น้ำยาและเป็นเพียงเสือกระดาษ พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนดำเนินการให้เด็ดขาดกว่าเดิมเพื่อยุติความรุนแรง

รัฐบาลทหารยังคงเพิกเฉยต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และปฏิเสธที่จะเจรจาประณีประณอมกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่, กองกำลังป้องกันประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ

เหตุรุนแรงล่าสุดที่มีการรายงานคือ การโจมตีทางอากาศใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งถูกระบุว่าเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏเมื่อเดือนที่แล้ว และมีรายงานผู้เสียชีวิตประมาณ 170 คน ก่อให้เกิดเสียงประณามจากทั่วโลก และทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลทหารแย่ลงไปอีก

แรงกดดันของที่ประชุมอาเซียนเพิ่มขึ้นล่าสุด จากกรณีขบวนรถที่บรรทุกนักการทูตและเจ้าหน้าที่ที่ประสานงานด้านการบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมของอาเซียนในเมียนมาถูกยิงโจมตีเมื่อวันอาทิตย์

มีการเปิดเผยรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับการโจมตีดังกล่าวในรัฐฉานทางตะวันออกของเมียนมา โดยนักการทูตต่างประเทศในกรุงย่างกุ้งกล่าวว่า นักการทูตจากสถานทูตอินโดนีเซียและสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มผู้ประสบเหตุ ซึ่งสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ประณามและยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ 2 คนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง อยู่ในขบวนรถที่ถูกโจมตี แต่ไม่ได้รับอันตราย ขณะที่อินโดนีเซียยังไม่ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์

เหตุโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม บนเกาะฟลอเรสของอินโดนีเซีย ซึ่งบรรดาตัวแทนจากชาติอาเซียนจะพยายามกระตุ้นกระบวนการสันติภาพภายใต้ฉันทามติ 5 ประการที่อาเซียนตกลงกับรัฐบาลทหารเมียนมาเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากล้มเหลวในการพยายามไกล่เกลี่ยเพื่อยุติความรุนแรง

"ประเด็นความรุนแรงดังกล่าวยกระดับความเร่งด่วนของเมียนมาให้เป็นประเด็นหารือหลักในการประชุมสุดยอดครั้งนี้อย่างแน่นอน" นักการทูตแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพี

แม้เมียนมายังคงเป็นสมาชิกอาเซียน แต่ก็ถูกกีดกันจากการประชุมสุดยอด เนื่องจากรัฐบาลทหารล้มเหลวในการดำเนินการตามแผนสันติภาพ

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ประเทศของเธอกำลังใช้ "การทูตแบบเงียบ" เพื่อพูดคุยกับทุกฝ่ายในความขัดแย้งของเมียนมา และกระตุ้นความพยายามสร้างสันติภาพอีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กจวบ' ประชุมแผนรับตัว 'แป้ง นาโหนด' กลับไทยพรุ่งนี้

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อก่อนเข้าประชุมเตรียมความพร้อมรับตัวนายเชาวลิต ทองด้วย หรือ แป้ง นาโหนด ผ่านระบบ Zoom Meeting ว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์

อึ้งไม่ฟุ่มเฟือย! 'รมว.ยธ.' ใช้งบ 6 แสน รับตัว 'แป้ง นาโหนด'

'ทวี' แจงงบใช้ 6 แสน นำตัว ‘แป้ง นาโหนด’ กลับไทยดำเนินคดี ยันถูกกว่าใช้เครื่องบินพาณิชย์ เผยตำรวจหารือราชทัณฑ์ ส่งเข้าส่วนกลางได้หรือไม่

นายกฯ ชื่นชมอินโดฯ ให้ความร่วมมือดีมากจับ 'แป้ง นาโหนด'

นายกฯ เผยทางการอินโดฯ ให้ความร่วมมือไทยอย่างดี ในการจับกุม ”แป้ง นาโหนด“ นำตัวกลับไทย 4 มิ.ย.นี้ ยันดำเนินการตามกม. ตามสิทธิผู้ต้องหาพึงได้รับ