ผู้นำสหรัฐ-ฟิลิปปินส์หารือข้อพิพาทตึงเครียดในทะเลจีนใต้ พร้อมร่วมมือพิทักษ์กรรมสิทธิ์

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เยือนทำเนียบขาว ร่วมหารือผู้นำสหรัฐในการตอบสนองการคุกคามของอิทธิพลจีนในทะเลจีนใต้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (กลางขวา) และจิลล์ ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ (ขวา) เข้าร่วมในพิธีต้อนรับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ (กลางซ้าย) และหลุยส์ อราเนตา-มาร์กอส ผู้เป็นภรรยา (ซ้าย) ณ ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม (Photo by Mandel NGAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์เดินทางเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ พร้อมหลุยส์ อราเนตา-มาร์กอส ผู้เป็นภรรยา และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ

ผู้นำทั้งสองร่วมหารือกันในห้องทำงานรูปไข่ โดยไบเดนเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการช่วยพันธมิตรปกป้องประเทศ

มาร์กอสกล่าวถึง "ช่วงเวลาที่ยากลำบาก" และตัดพ้อว่าฟิลิปปินส์อยู่ในภูมิภาคที่มี "สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนที่สุดในโลกในขณะนี้"

"ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ฟิลิปปินส์จะมองหาภาคีสนธิสัญญาเพียงรายเดียวในโลก เพื่อเสริมสร้างนิยามความสัมพันธ์ใหม่และร่วมมีบทบาทต่อความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในทะเลจีนใต้และเอเชียแปซิฟิก" มาร์กอสกล่าว

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวว่า การเยือนของมาร์กอส ซึ่งได้รับการต้อนรับด้วยทหารกองเกียรติยศด้านนอกทำเนียบขาว ถือเป็นครั้งแรกที่ความสัมพันธ์ของสองชาติแนบแน่นเป็นพิเศษในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการของสหรัฐในอินโดแปซิฟิก

การอ้างสิทธิ์ที่ทับซ้อนกันในทะเลจีนใต้เป็นปัญหาคาราคาซังระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ โดยรัฐบาลปักกิ่งอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมด พร้อมส่งเรือหลายร้อยลำไปตรวจตราน่านน้ำอยู่เป็นประจำและครอบครองแนวปะการัง นอกจากนี้ยังเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศในปี 2559 ที่ว่าการอ้างสิทธิ์ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย

เมื่อพิจารณารวมถึงการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ของจีนรอบเกาะไต้หวัน ฝ่ายบริหารของไบเดนจึงต้องเร่งเสริมขีดความสามารถทางทหารอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ และการที่ประเทศฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ รวมถึงเขตแดนที่ใกล้ไต้หวัน สหรัฐฯจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ

มาร์กอสออกมากล่าวอย่างหนักแน่นก่อนเดินทางไปเยือนวอชิงตันว่า เขาระมัดระวังไม่ให้ประเทศถูกใช้เป็นเครื่องมือของชาติมหาอำนาจ และจะไม่ยอมให้ฟิลิปปินส์ถูกใช้เป็นฐานสำหรับปฏิบัติการทางทหารใดๆโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม มาร์กอสเพิ่งอนุมัติให้สหรัฐฯ หมุนเวียนกองกำลังของตนไปยังฐานทัพในฟิลิปปินส์เพิ่มอีก 4 แห่งภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมเพิ่มเติม (อีดีซีเอ) ที่ 2 ชาติทำข้อตกลงกันไว้เมื่อปี 2557 จากของเดิมที่อนุญาตให้เข้าถึงฐานทัพได้ 5 แห่ง ก่อนหน้านี้ อีกทั้งพันธมิตรทั้งสองเพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบร่วมทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้สหรัฐฯต้องการสร้างแนวทางการป้องกันทวิภาคีใหม่ร่วมกับฟิลิปปินส์ โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกองทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

จอห์น เคอร์บี โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวเน้นย้ำว่า กองกำลังสหรัฐในฟิลิปปินส์และการใช้งานฐานทัพแต่ละแห่งที่ได้รับอนุญาตนั้น ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของกองทัพฟิลิปปินส์ และทุกย่างก้าวของการดำเนินการจะปฏิบัติในรูปแบบการประสานงานที่สมบูรณ์ซึ่งกันและกัน ในฐานะพันธมิตรที่ดีและมีคำมั่นสัญญาต่อกัน

สถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหัวข้อสำคัญที่โจ ไบเดนจะหยิบยกไปหารือที่ญี่ปุ่นระหว่างเข้าร่วมการประชุม จี7 ช่วงกลางเดือนนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' ยกไอแพดคุย 'ทรัมป์' แสดงความยินดีชนะเลือกตั้ง ยันไทยพร้อมทำงานกับสหรัฐฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิ