ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติชี้ จีนบังคับชาวทิเบตเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกล่าวหาจีนว่าบังคับให้ชาวทิเบตหลายแสนคนเข้าร่วมการฝึกอาชีพที่คุกคามเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกเขาและอาจนำไปสู่การบังคับใช้แรงงาน

ชายชาวทิเบตเดินจูงม้าบนที่ราบสูงทิเบตในเมืองหยูชู ตั้งอยู่ระหว่างเนินเขาสีเขียวมรกตบนที่ราบสูงหิมาลัย ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 3,700 เมตร (Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 กล่าวว่า ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติ 6 คนแสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการฝึกอาชีพและการโยกย้ายแรงงาน ที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อบ่อนทำลายเอกลักษณ์ทางศาสนา, ภาษา และวัฒนธรรมของชาวทิเบต รวมทั้งตรวจสอบและปลูกฝังวิถีชีวิตใหม่ให้ชาวทิเบต

"มีรายงานว่าชาวทิเบตหลายแสนคนถูก 'โยกย้าย' จากชีวิตชนบทแบบดั้งเดิมไปสู่ภาคแรงงานที่มีทักษะต่ำและได้ค่าจ้างต่ำตั้งแต่ปี 2558 ผ่านโครงการที่อธิบายว่าเป็นความสมัครใจ แต่ในทางปฏิบัติ มีรายงานว่าการมีส่วนร่วมของพวกเขาถูกบีบบังคับ" ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

"โครงการถ่ายโอนแรงงานได้รับการอำนวยความสะดวกโดยเครือข่ายศูนย์ฝึกอาชีพ ซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะวิชาชีพเพียงเล็กน้อย แต่กลับให้ความสำคัญกับการปลูกฝังวัฒนธรรมและการเมืองในสภาพแวดล้อมคล้ายการฝึกทหาร" ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเสริม

พวกเขาพบว่า ชาวทิเบตในโครงการดังกล่าวถูกห้ามไม่ให้ใช้ภาษาทิเบตและกีดกันไม่ให้แสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาของตน

รายงานพิเศษอธิบายว่า ชาวทิเบตกำลังถูกดึงออกจากวิถีชีวิตที่ยั่งยืนซึ่งแต่เดิมพวกเขามีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่น การผลิตขนสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ก่อนถูกผลักดันให้หันไปทำงานด้านการผลิตและการก่อสร้างที่มีค่าแรงต่ำและมีทักษะต่ำ

นอกจากนี้ ชาวทิเบตถูกย้ายจากศูนย์ฝึกอบรมไปยังสถานที่ทำงานใหม่ของพวกเขา โดยไม่ชัดเจนว่าพวกเขายินยอมที่จะทำงานชนิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งยังไม่มีการกำกับดูแลเพื่อตัดสินว่าสภาพการทำงานถือเป็นการบังคับใช้แรงงานหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้รัฐบาลจีนชี้แจงว่า ชาวทิเบตสามารถเลือกไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งให้มีการเฝ้าติดตามสภาพการทำงานในสถานที่ทำงานใหม่ทุกแห่งด้วย

ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา สถานะของทิเบตได้สลับไปมาระหว่างการเป็นเอกราชกับการถูกควบคุมโดยจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งอ้างว่าได้ปลดปล่อยทิเบตอย่างสันติในปี 2494 พร้อมนำโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษามาสู่ภูมิภาคที่เคยด้อยพัฒนาก่อนหน้านี้

แต่ชาวทิเบตที่ถูกเนรเทศจำนวนมากกล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนทำการปราบปราม, ทรมาน และกัดกร่อนวัฒนธรรมของพวกเขา

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญ 3 คนของสหประชาชาติกล่าวว่า เด็กชาวทิเบตราวล้านคนถูกแยกจากครอบครัวและถูกล้างสมองที่โรงเรียนในจีน

ผู้เสนอรายงานพิเศษแสดงความตื่นตระหนกต่อนโยบายของรัฐบาลจีนที่มีเป้าหมายเพื่อหลอมรวมชาวทิเบตในด้านวัฒนธรรม, ศาสนา และภาษา ผ่านระบบโรงเรียน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' เสียใจ 'คดีตากใบ' หมดอายุความ ขอให้เป็นบทเรียน ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น

'ภูมิธรรม' เสียใจคดีตากใบหมดอายุความ ย้ำเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มที่แล้ว ไม่มีปัญหากรณี UN แสดงความกังวลยืน ยันรัฐบาลไม่ได้ปล่อยให้คดีหมดอายุความ ขอให้เป็นบทเรียนนำไปศึกษาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น

Climate School (โรงเรียนเพื่อการรักษาสภาพภูมิอากาศ)

เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทุกประเทศในโลกต้องหันมาให้การสนับสนุนส่งเสริมนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อม

นายกฯ กล่าวเนื่องในวันน้ำโลก ชวนทุกคนร่วมร่วมอนุรักษ์ แบ่งปัน ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า

นายกฯ กล่าวเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2567 เชิญชวนทุกคนร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมอนุรักษ์ แบ่งปัน ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ให้น้ำเป็นทรัพยากรที่สร้างความมั่นคงทางสังคม การเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและประชาคมโลก