ผู้นำกัมพูชากลับลำ ยกเลิกกฎหมายอนุรักษ์โลมาอิรวดี

ฮุน เซน ผู้นำกัมพูชายกเลิกกฎหมายที่เขาอนุมัติเมื่อ 2 เดือนก่อนเพื่อปกป้องโลมาในแม่น้ำโขงที่ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ยังคงทยอยตายจากการทำประมงผิดกฎหมาย

โลมาอิรวดี (Photo by Handout / Wildlife Conservation Society / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 กล่าวว่า จำนวนโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขงลดน้อยลงจาก 200 ตัวเมื่อมีการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกในปี 2540 เหลือเพียง 89 ตัวในปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการทำประมงผิดกฎหมายและการสูญเสียถิ่นอยู่อาศัย

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาออกกฤษฎีกาฉบับใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ สร้างเขตคุ้มครองห้ามจับปลาในแนวยาว 120 กิโลเมตรของแม่น้ำโขงเพื่อปกป้องโลมาอิรวดีไม่ให้เสียชีวิตไปมากกว่านี้และหลีกเลี่ยงการสูญพันธุ์อย่างถาวร หลังจากก่อนหน้านั้นพบโลมา 3 ตัวตายภายในสัปดาห์เดียว

นักอนุรักษ์ยังได้เพิ่มความพยายามในการปกป้องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ ที่มีลักษณะหน้าผากนูนและจะงอยปากสั้น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแหวกว่ายอย่างอิสระตามแม่น้ำโขงไปจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเวียดนาม

แต่หลังจากกฏหมายใหม่บังคับใช้ ก็ยังคงมีการตายของโลมาเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ตัว รวมถึงโลมาทารกอายุ 4 วันที่พบตายติดอวนจับปลาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ฮุน เซน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาตัดสินใจยกเลิกกฤษฎีกาฉบับใหม่ เนื่องจากโลมายังคงตายอย่างต่อเนื่อง และครอบครัวชาวประมงหลายพันครอบครัวได้รับผลกระทบ

"เราต้องการปกป้องโลมาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่โลมาก็ตายลงเรื่อยๆ" ผู้นำกัมพูชากล่าวในงานที่จัดขึ้นในกรุงพนมเปญ

"โลมายังคงเข้าไปติดอวน แม้ว่าจะมีการสั่งห้ามจับปลาทุกชนิดแล้วก็ตาม" เขากล่าวเสริม โดยอ้างถึงอวนที่ชาวประมงใช้ขึงข้ามแม่น้ำ

ฮุน เซน กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อครอบครัวหลายพันครอบครัวที่พึ่งพาการทำประมงในแม่น้ำโขง

"เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ เราคงต้องยกเลิกและปล่อยให้ผู้คนได้รับประโยชน์จากแม่น้ำดังเดิม" เขากล่าว

ฮุน เซน ขอให้ทางการดำเนินการบังคับใช้ตามกฏหมายฉบับเดิมที่ห้ามจับปลาในพื้นที่บางส่วนที่เป็นถิ่นอยู่อาศัยของโลมา และปราบปรามการจับปลาด้วยวิธีช็อตไฟฟ้า

จากข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ในปี 2565 มีโลมาอิรวดี 11 ตัวตายในกัมพูชา ทำให้จำนวนโลมาตายทั้งหมด 29 ตัวแล้วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ออกกฎหมายและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาการตายอย่างผิดธรรมชาติอันเกิดจากการคุกคามของเครื่องมือประมงและการจับปลาด้วยไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์โลมา

ประเทศกัมพูชาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดีจำนวนมากที่สุด และสามารถพบได้ทั้งในแม่น้ำและทะเลสาบในประเทศเมียนมา, อินโดนีเซีย, อินเดีย และไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแนะทางแก้ 'ปลาหมอคางดำ' เชื่อแพร่พันธุ์ภาคอีสานยาก

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน

ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ยื่นจดหมายถึงนายกฯ หวั่นผลกระทบเขื่อนปากแบง

นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายกฯ รับฟังปัญหาชลประทาน ที่ดินทำกิน อ.เชียงแสน ชาวบ้านขอผ่อนปรนคนจีนข้ามแดน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบชลประทาน เพื่อการอุปโภคบริโภค และพบปะประชาชน ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง

ยึดรายวันยาบ้าริมโขง ทหารพรานสกัดได้กว่า 2 แสนเม็ด

ที่กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2101 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (ร้อย ทพ.2101 ฉก.21 กกล.ฯ) บ้านปากห้วยม่วง ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม พ.อ.อินทราวุธ ทองคำ ผบ.กรม ทพ.21/ผบ.ฉก.ทพ.21 ร.ท.วันชาติ

เอาแล้ว! ยื่นศาลรธน.เลิก 'MOU44' ยุคทักษิณ หวั่นเสียเกาะกูดให้กัมพูชา

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และในฐานะนักกฏหมาย ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เลขรับที่ 251