ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ให้การต้อนรับผู้นำเกาหลีใต้สำหรับการเยือนอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศแผนนิวเคลียร์ร่วมกัน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับชาติพันธมิตรในการเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (กลางขวา) และจิลล์ ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ (ขวา) กับประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ (กลางซ้าย) และคิม กอนฮี ผู้เป็นภริยา (ซ้าย) โบกมือจากระเบียงระหว่างพิธีการต้อนรับ ที่บริเวณสนามหญ้าของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 เมษายน (Photo by Jim WATSON / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ เดินทางเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ พร้อมคิม กอนฮี ผู้เป็นภรรยา และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน
พิธีที่เอิกเกริก พร้อมทหารกองเกียรติยศและแขกหลายร้อยคนรวมตัวกันที่ด้านนอกทำเนียบขาวเมื่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้และภรรยามาถึง
โจ ไบเดน ร่วมยืนเคียงข้างยุน ซ็อก-ยอล และกล่าวยกย่องสิ่งที่เขาเรียกว่า "สายสัมพันธ์ที่ไม่มีวันแตกหัก" ของ "พันธมิตรหุ้มเกราะเหล็ก" ระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งร่วมมือกันในสงครามเกาหลีเมื่อ 7 ทศวรรษที่แล้ว
"ปัจจุบัน พันธมิตรเหล่านี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นพันธมิตรในการรักษาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง" ไบเดนกล่าว พร้อมเสริมว่า "อนาคตของเราเต็มไปด้วยโอกาสที่คาดไม่ถึง"
ผู้นำทั้งสองจะหารือกันในห้องทำงานรูปไข่และจัดงานแถลงข่าวร่วมกัน ก่อนจะจบวันด้วยอาหารค่ำสุดหรูในห้องพิธีการ
ก่อนการมาถึงของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้นำทั้งสองจะประกาศมาตรการเสริมในการป้องปรามเกาหลีเหนือ รวมถึงการส่งเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ไปยังเกาหลีใต้ เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
"บนพื้นฐานของ 'ปฏิญญาวอชิงตัน' จะมีการสร้างกลุ่มที่ปรึกษาระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนิวเคลียร์แก่รัฐบาลโซลมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลวอชิงตันจะยังคงบัญชาการอาวุธของตนแต่เพียงผู้เดียว" เจ้าหน้าที่กล่าว
ข้อตกลงนี้เป็นการตอบสนองต่อความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากการทดสอบขีปนาวุธและคลังแสงนิวเคลียร์ของเพื่อนบ้านคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯแลกเปลี่ยนทางนิวเคลียร์อย่างจริงจังครั้งสุดท้ายต้องย้อนไปในสมัยที่แสดงบทบาทปกป้องชาติยุโรปจากการคุกคามของสหภาพโซเวียต
"สหรัฐอเมริกาไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้จริงจังอีกเลยตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่มีพันธมิตรเพียงไม่กี่ประเทศในยุโรป และตอนนี้เรากำลังจะเริ่มขั้นตอนเหล่านี้อีกครั้ง และมุ่งมั่นที่การป้องปรามการคุกคามที่ยืดเยื้อเหล่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย" เจ้าหน้าที่กล่าวเสริม แต่เขาย้ำว่า สหรัฐฯไม่มีแผนที่จะประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ ซึ่งแตกต่างจากยุคสงครามเย็นที่อาวุธทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ถูกส่งไปประจำการในยุโรป
เช่นเดียวกับรัฐบาลโซลที่ย้ำหนักแน่นว่า จะไม่แสวงหาคลังแสงนิวเคลียร์เป็นของตนเอง
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เป็นเพียงผู้นำต่างประเทศคนที่ 2 ที่ได้รับเชิญจากโจ ไบเดน ให้เดินทางมาเยือน พร้อมการต้อนรับทางทหารอย่างสมเกียรติที่ทำเนียบขาว
เมื่อวันอังคาร ยุนและไบเดนไปเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานสงครามเกาหลี ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปปั้นเหล็กขนาดเท่าตัวจริงของทหารสหรัฐฯ ในท่าทางเดินสวนสนามระหว่างสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ฝั่งเหนือในปี 2493-2496
ยุนได้วางพวงมาลาที่หลุมศพของทหารนิรนามในสุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน และเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการขององค์การนาซาใกล้กรุงวอชิงตัน โดยมีรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ เป็นผู้ให้การต้อนรับ
ในวันพฤหัสบดี ยุนจะกล่าวสุนทรพจน์ในสภาคองเกรส และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับกมลา แฮร์ริสและแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ
ในวันศุกร์ ยุนมีกำหนดการไปเยือนมหาวิทยาลัยเอ็มไอทีและฮาร์วาร์ด ก่อนเดินทางกลับเกาหลีใต้ในวันเสาร์.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' ยกไอแพดคุย 'ทรัมป์' แสดงความยินดีชนะเลือกตั้ง ยันไทยพร้อมทำงานกับสหรัฐฯ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิ
ใครลอกใคร! การเมืองอเมริกา 5 เรื่อง ที่เหมือนไทยเป๊ะ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทย-อเมริกา เหมือนหรือแตกต่างกัน?