บัน คีมูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางเยือนเมียนมาเพื่อหารือรัฐบาลทหาร ขณะที่ความขัดแย้งนองเลือดในประเทศยังคงรุนแรงต่อเนื่อง
มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา (ขวา) ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับบัน คีมูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ซ้าย) ที่เดินทางมาเยือน ในกรุงเนปยีดอ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 24 เมษายน (Photo by MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566 กล่าวว่า บัน คีมูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และทีมงานของเขา เดินทางเยือนเมียนมาและได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารในกรุงเนปยีดอ ตามรายงานจากสื่อของรัฐ
ความพยายามทางการทูตเพื่อยุติวิกฤตที่เกิดจากการรัฐประหารในปี 2564 ของกองทัพได้หยุดชะงักลง โดยรัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเกี่ยวกับการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยมและปฏิเสธที่จะเจรจาประณีประณอมกับฝ่ายตรงข้าม
บัน คีมูน ได้รับการต้อนรับและร่วมพูดคุยกับมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ในแง่มุมการพัฒนาในเมียนมา นอกจากนี้ บัน คีมูนยังได้พบปะกับเมีย ตุน อู รัฐมนตรีกลาโหมอีกด้วย ตามรายงานรัฐบาลฯ ที่ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจา
ทั้งเมีย ตุน อู และมิน อ่อง หล่าย ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร นับตั้งแต่ทำรัฐประหารในปี 2564
ขณะที่สื่อท้องถิ่นระบุว่า บัน คีมูนไม่ได้พบกับอองซาน ซูจี และเดินทางออกจากประเทศเรียบร้อยแล้ว
บันซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ เดินทางเยือนเมียนมาหลายครั้งในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ โดยประสบความสำเร็จในการเจรจากับนายทหารระดับสูงในหลายๆเรื่อง
ในปี 2552 เขาไปเยือนเมียนมาเพื่อกดดันให้ตาน ฉ่วยซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำรัฐบาลทหารให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจี แต่ตาน ฉ่วย ปิดประตูใส่อย่างไม่แยแส
ในปี 2559 เมื่อซูจีออกจากคุกและดำรงตำแหน่งผู้นำพลเรือนโดยพฤตินัยของเมียนมา เขากลับมาสนับสนุนนานาชาติอย่างแข็งขันในการผลักดันให้ซูจีลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์จำนวนมากมายในประเทศ
ก่อนที่ซูจีถูกควบคุมตัวอีกครั้งในช่วงเริ่มต้นของการรัฐประหารในปี 2564 ซึ่งทำให้ประเทศตกอยู่ในความโกลาหลและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตั้งแต่นั้นมา.