อินเดียเตรียมแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในกลางปี ตามการประมาณการของสหประชาชาติ
ประชากรขวักไขว่ในเมืองใหญ่ของอินเดีย (Photo by Punit PARANJPE / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 19 เมษายน 2566 กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดเผยรายงานสถานะประชากรโลกของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) ระบุว่า ประชากรอินเดียจะเพิ่มจำนวนขึ้นแตะระดับ 1,428 ล้านคนในช่วงกลางปีนี้ โดยจะแซงหน้าจำนวนประชากรจีนที่มีตัวเลข 1,425 ล้านคน และกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกรายใหม่
ประชากรของจีนมีจำนวนลดลงในปี 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2503 โดยครั้งนั้นมีสาเหตุจากการล้มตายของหลายล้านชีวิตภายใต้หายนะทางนโยบายเกษตรกรรมของอดีตผู้นำเหมาเจ๋อตุง
สำหรับปี 2565 หลายคนกล่าวว่า ประเทศจีนเผชิญกับการลดลงของจำนวนประชากรเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนสตรีที่เข้าสู่ตลาดแรงงานและแสวงหาการศึกษามากขึ้น
รัฐบาลปักกิ่งยุติ "นโยบายลูกคนเดียว" ที่เข้มงวด ซึ่งบังคับใช้ครั้งแรกในปี 2523 จากความหวาดกลัวประชากรล้นโลก ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ในปี 2564 และเริ่มปล่อยให้แต่ละครอบครัวสามารถมีลูกได้ 3 คน แม้หลายภูมิภาคของจีนได้ประกาศเดินหน้าแผนการเพิ่มอัตราการเกิดแล้ว แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ไขการลดลงของจำนวนประชากรได้
ขณะที่อินเดียไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับจำนวนประชากรของประเทศ เนื่องจากไม่ได้จัดทำการสำรวจสำมะโนประชากรตั้งแต่ปี 2554 แม้จะเคยพยายามสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี 2564 แต่กระบวนการก็หยุดชะงักไปเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียอ้างถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงแต่ละพื้นที่ รวมทั้งปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้กระบวนการสำรวจสำมะโนประชากรจะไม่เริ่มขึ้นในเร็วๆนี้ แต่นักวิจารณ์กล่าวว่ารัฐบาลจงใจชะลอการสำรวจดังกล่าว เพื่อปกปิดข้อมูลในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงก่อนการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2567 เช่น ตัวเลขการว่างงาน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจอินเดียภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กำลังประสบปัญหาในการจัดหางานให้กับคนหนุ่มสาวหลายล้านคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในแต่ละปี ซึ่งประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปี มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในประเทศ ขณะที่อินเดียเองก็เผชิญกับปัญหาในการจัดหาไฟฟ้า, อาหาร และที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่หลายแห่ง
รายงานล่าสุดของสหประชาชาติยังคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะมีจำนวนมากถึง 8,045 ล้านคนภายในกลางปี 2566 และคาดว่าจำนวนประชากรโลกจะขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 10,400 ล้านคน ก่อนจะเริ่มลดลงในช่วงปี 2630-2640.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัสเซีย ขัดขวางมติหยุดยิงของยูเอ็นในซูดาน
นายพลสองคนซึ่งเป็นคู่แข่งแย่งชิงอำนาจ ต่อสู้กันในซูดานมาเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งแล้ว ขณะนี้รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสห
'ตุรเกีย' ออกโรงเรียกร้องให้ยูเอ็นคว่ำบาตรการส่งอาวุธให้อิสราเอล
กระทรวงการต่างประเทศของตุรเกียแถลงการณ์ว่า ได้ส่งจดหมายถึงสหประชาชาติที่ลงนามโดย 52 ประเทศและสององค์กร
ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง
มาครง และเนทันยาฮู ปะทะกันหลังเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพถูกโจมตีในเลบานอน
กองทัพอิสราเอลโจมตีฐานที่ตั้งของกองกำลัง ‘หมวกสีฟ้า’ ในเลบานอนหลายครั้ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่ง
'พิธา' โผล่ประชุม กมธ.ความมั่นคง เชิญ 5 ธนาคารไทยแจงปม 'ยูเอ็น' แฉหนุนเมียนมาซื้ออาวุธ
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธาน มีการพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ