นายกฯญี่ปุ่นเผชิญเหตุระทึกขณะปราศรัยหาเสียง ก่อนทุกอย่างคลี่คลาย

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นปลอดภัยและกลับมาดำเนินกิจกรรมหาเสียงต่ออีกครั้ง หลังถูกป่วนด้วยระเบิดควันขณะปราศรัย

ชายคนหนึ่ง (ด้านล่าง) ถูกควบคุมตัวหลังจากขว้าง "ระเบิดควัน" ใส่กิจกรรมปราศัยของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะในเมืองวาคายามะ เมื่อวันที่ 15 เมษายน (Photo by JIJI PRESS / AFP)

ชายคนหนึ่ง (ด้านล่าง) ถูกควบคุมตัวหลังจากขว้าง "ระเบิดควัน" ใส่กิจกรรมปราศัยของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะในเมืองวาคายามะ เมื่อวันที่ 15 เมษายน (Photo by JIJI PRESS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2566 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เผชิญกับเหตุอกสั่นขวัญแขวน หลังถูกโจมตีด้วยระเบิดควันขณะทำการปราศรัยหาเสียงในจังหวัดวาคายามะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น

คิชิดะกล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนผู้สมัครพรรครัฐบาลที่ท่าเรือท้องถิ่นของเมืองดังกล่าว ก่อนเกิดความโกลาหลในกลุ่มฝูงชนที่มารวมตัวกันเพื่อฟังเขาปราศรัย

ภาพจากสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคแสดงให้เห็นอากัปกิริยาของผู้นำญี่ปุ่นที่หันกลับไปมองข้างหลัง ขณะที่บุคคลหนึ่งถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้คนต่างพากันแตกฮือพร้อมกรีดร้อง ก่อนที่ไม่กี่วินาทีต่อมา มีเสียงระเบิดและควันสีขาวลอยเต็มอากาศ

มีภาพถ่ายบางส่วนจากที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นวัตถุคล้ายท่อสีเงินอยู่บนพื้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นส่วนประกอบของระเบิดควันหรือไม่

เจ้าหน้าที่ตำรวจวาคายามะกล่าวว่า ชายวัย 24 ปีจากภูมิภาคเฮียวโกะคนหนึ่ง ถูกจับกุมในข้อหาขัดขวางการทำธุรกิจ และอยู่ในระหว่างสอบสวนแรงจูงใจในการก่อเหตุ

หลังเหตุระทึก คิชิดะไม่ได้รับอันตรายใดๆและในไม่ช้าก็กลับมาปราศัยหาเสียงต่อที่สถานีรถไฟท้องถิ่น

"มีเสียงระเบิดดังขึ้นที่สถานที่ปราศรัยก่อนหน้านี้ ตำรวจกำลังตรวจสอบรายละเอียด แต่ผมอยากจะขอโทษที่ทำให้หลายคนกังวลและทำให้เดือดร้อน" คิชิดะกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และเสริมว่า "การเลือกตั้งที่มีความสำคัญต่อประเทศของเรากำลังเกิดขึ้น และเราต้องทำงานร่วมกัน ไปจนถึงการติดตามผล"

คาดว่าผู้นำญี่ปุ่นจะเดินสายทำกิจกรรมการเมืองต่อในจังหวัดชิบะช่วงบ่ายวันเสาร์ แม้ว่าเพิ่งเกิดเหตุที่อาจสร้างอันตรายต่อตัวคิชิดะและฝูงชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งฮิโรชิ โมริยามะ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรครัฐบาลระบุว่าเป็น "ความโหดร้ายที่ไม่อาจให้อภัยได้"

ทั้งนี้ การรักษาความปลอดภัยในการทำกิจกรรมการหาเสียงในท้องถิ่นของญี่ปุ่นค่อนข้างหละหลวม ในประเทศที่มีอาชญากรรมรุนแรงเพียงเล็กน้อยและกฎหมายปืนที่เข้มงวด

แต่หลังจากเหตุลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ขณะปราศรัยหาเสียงในเดือนกรกฎาคม 2565 ญี่ปุ่นก็ยกระดับการรักษาความปลอดภัยให้กับนักการเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.ณัฏฐ์ ชี้เลือกนายกอบจ.อุดร เพื่อไทยชนะไม่ขาดจะกระทบสนามใหญ่ เตือน 'ทักษิณ' ปากพาซวย!

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ 'ทักษิณ ชินวัตร' ยกทัพไปช่วยหาเสียงนายกอบจ.อุดรธานี แม้เกณฑ์คนไปฟังเยอะ คะแนนสวนทาง หากไม่ชนะขาด กระทบต่อสนามใหญ่ ยกวาทะ 'ถ้าจะเลือกทักษิณ ให้เลือกเบอร์ 2' ระวังทำคนหลงผิดโทษถึงคุก!