เมียนมายืนยันโจมตีทางอากาศฝ่ายต่อต้าน ไม่สนนานาชาติประณาม

รัฐบาลทหารเมียนมายืนยันว่าได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตหลายสิบคน เรียกเสียงประณามจากสหประชาชาติและชาติมหาอำนาจตะวันตก

นักรบต่อต้านรัฐประหารในภูมิภาคสะกายทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน 2566 กล่าวว่า รัฐบาลทหารเมียนมายืนยันรายงานของสื่อที่นำเสนอปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของภูมิภาคสะกาย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 รายและบาดเจ็บอีกหลายสิบคน โดยมีเด็กหลายรายเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต

รายงานดังกล่าวของบีบีซี พม่า, ดิ อิรวดี และเรดิโอฟรีเอเชีย รวมถึงเอเอฟพี ระบุว่า เครื่องบินรบ 1 ลำและเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำเกี่ยวข้องกับการยิงกราดใส่หมู่บ้านปาซี ยี (Pazi Gyi) ซึ่งชาวบ้านจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมระหว่างพิธีเปิดสำนักงานกองกำลังป้องกันท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารเมียนมา

รัฐบาลทหารยืนยันรายงานดังกล่าวเมื่อวันพุธว่า ได้เปิดการโจมตีทางอากาศในวงจำกัด หลังจากได้รับคำแนะนำจากประชาชนเกี่ยวกับการรวมตัวในหมู่บ้านดังกล่าว

ถึงแม้จะไม่ได้ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตกี่ราย แต่กองทัพยืนยันว่า ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อลดอันตรายต่อพลเรือน และมีข้อมูลว่าผู้เสียชีวิตบางรายเป็นนักรบต่อต้านรัฐประหาร ทั้งที่อยู่ในเครื่องแบบและที่สวมชุดพลเรือน นอกจากนี้ทุ่นระเบิดที่กองกำลังดังกล่าวติดตั้งไว้เกิดทำงานขึ้นขณะมีการโจมตี จึงทำให้มีความเสียหายรุนแรงและเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตบางส่วน

การโจมตีเกิดขึ้นในขณะที่เมียนมากำลังเตรียมฉลองปีใหม่ทางพุทธศาสนา หรือ เทศกาลสงกรานต์ (ติงจัน หรือ ตะจาน) ซึ่งจะเริ่มในวันพฤหัสบดี

"ขณะที่ชาวเมียนมาเฉลิมฉลองปีใหม่ สหภาพยุโรปรู้สึกตกใจอย่างมากกับรายงานความโหดร้ายครั้งล่าสุดที่กระทำโดยรัฐบาลทหารในสะกาย ซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์หลายสิบราย" นาบิลา มาสราลี โฆษกกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าว

ขณะที่สหประชาชาติไม่ยืนยันยอดผู้เสียชีวิต แต่ระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิตหลายรายเช่นกัน โดยโวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวหาว่ากองทัพเมียนมาเพิกเฉยต่อพันธกรณีทางกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปกป้องพลเรือนไม่ให้ได้รับอันตรายจากการสู้รบ พร้อมเรียกร้องให้นำตัวผู้สั่งการโจมตีมาลงโทษ

เลขาธิการสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีดังกล่าว และเรียกร้องให้ทหารยุติการใช้ความรุนแรงต่อชาวเมียนมาทั่วประเทศ เช่นเดียวกับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯและกลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch)

ทั้งนี้ ภูมิภาคสะกายตั้งอยู่ใกล้กับมัณฑะเลย์ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่แสดงการต่อต้านอย่างดุเดือดที่สุดต่อการปกครองของทหาร โดยมีการสู้รบกับรัฐอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง