การก่อสร้างตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เริ่มต้นด้วยการรื้อถอน อาคาร 164 หลังต้องหลีกทาง-อย่างเป็นผุยผง-ให้กับสัญลักษณ์ใหม่ของมหานคร อาคารหลายหลังไม่ใช่อาคารธรรมดาทั่วไป หนึ่งในนั้นคือ Radio Row คลังสินค้าขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันตกตอนล่างของแมนฮัตตันที่ทอดยาวข้ามถนนกรีนวิชและคอร์ตแลนด์ต ที่นี่เคยมีร้านขายทีวี วิทยุ เครื่องเสียงสเตอริโอและอุปกรณ์ไฮไฟถึง 300 เจ้า
ผลิตภัณฑ์ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วอเมริกาถูกนำมาจำหน่ายใน Radio Row บรรดาผู้ค้ารายย่อยและบริษัทก่อสร้างเคยรวมตัวกันประท้วง คัดค้านการก่อสร้างตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์อยู่นานหลายปี อย่างไรก็ตามวันที่ 12 มีนาคม 1966 กำแพงอิฐของอาคารได้พังทลายลง คลังสินค้า Radio Row ถูกรื้อถอนออกไป นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมี มิโนรุ ยามาซากิ สถาปนิกลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์จะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าโลกในย่านการเงิน ทางใต้สุดของแมนฮัตตัน อาคารสำนักงานขนาด 2 ล้านตารางเมตรจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 53,000 ตารางเมตร เป็นทาวเวอร์สองหลัง 110 ชั้น สูง 415 และ 417 เมตร
เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์งอกเงยขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแต่ละสัปดาห์มีการต่อยอดได้สูงสุดถึง 3 ชั้น ยามาซากิรู้สึกพอใจกับการดำเนินงาน แต่เงิน 335 ล้านดอลลาร์ที่เขาได้รับจากโครงการนี้กำลังถูกใช้ไปจนหมดอย่างรวดเร็วเช่นกัน ยามาซากิได้รับงบประมาณเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง เพราะนิวยอร์กในยุคทศวรรษ 1970 ทุกอย่างเป็นไปได้ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ได้รับการออกแบบเพื่อแสดงความแข็งแกร่งของอเมริกาในการสู้รบกับระบบและสหภาพโซเวียต ไม่มีใครคิดคำนึงถึงความประหยัด ไม่แม้แต่ในช่วงเวลาที่เลวร้าย
เมื่อวิกฤตการณ์น้ำมันส่งผลกระทบการค้าโลกอย่างหนัก ความต้องการอาคารสำนักก็เริ่มลดลง สำหรับเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่กำลังจะเปิดนี้ถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง แต่นิวยอร์กก็มีวิธีแก้ปัญหาแบบนอกระบบราชการ ผู้ว่าการ เนลสัน ร็อกกีเฟลเลอร์สั่งการให้เจ้าหน้าที่ 25,000 ย้ายถิ่นฐาน พวกเขาได้สำนักงานใหม่ และนั่นก็เท่ากับเป็นการรับประกันอนาคตของทาวเวอร์ใหม่ทั้งสองหลังด้วย
ในท้ายที่สุด มิโนรุ ยามาซากิใช้งบการก่อสร้างไปทั้งสิ้น 990 ล้านดอลลาร์ นับเป็นสถาปนิกที่ก่อสร้างอาคารราคาแพงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ยามาซากิซึ่งเป็นโรคกลัวความสูง แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องตึกสูงและมีประสบการณ์สูง เขาเคยออกแบบตึกสูงมากมายก่อนหน้านั้น แต่แผนการก่อสร้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เขาต้องเจอปัญหาที่ไม่เคยประสบมาก่อน จุดที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ตั้งอยู่นั้น อยู่เหนือระดับน้ำในแม่น้ำฮัดสันเพียงสามฟุต ชายฝั่งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร สำหรับตึกสูงกว่า 400 เมตรเขาจะต้องสร้างรากฐานที่ลึกถึง 30 เมตร แต่แรงดันด้านข้างที่เกิดจากระดับน้ำที่สูงกลายเป็นความท้าทาย
วิศวกรคนหนึ่งของยามาซากิบังเอิญไปค้นพบไอเดียที่มิลาน สุดท้ายยามาซากิก็ออกแบบวางทาวเวอร์ทั้งสองหลังใน “อ่างอาบน้ำ” ขนาด 440,000 ตารางเมตร ที่ทำจากคอนกรีตเป็นผนังด้านข้างและโครงสร้างลวดสลิง ตามแบบจำลองของอาคารในอิตาลี ภายในอาคารเขาออกแบบให้พื้นผิวต่อเนื่องกัน โดยที่สำนักงาน ห้องโถง หรือโรงแรมปราศจากเสาและคานขวาง ด้วยเหตุนี้คานเหล็กด้านนอกอาคารที่เว้นระยะห่างประมาณ 80 เซนติเมตรจึงรับน้ำหนักได้ หน้าต่างบานเล็กขนาดเท่าไหล่สะท้อนรูปลักษณ์ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แต่ในสายตาของนักวิจารณ์แล้ว หลายคนมองว่ามันคล้ายกรงเหล็ก ที่กักขังผู้คนกว่า 200,000 คนไว้ภายในอาคาร
อย่างไรก็ตาม สื่อส่วนใหญ่ให้การยอมรับและยกย่องยามาซากิกับผลงานการก่อสร้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ตึกแฝดสูงตระหง่านเหนือเส้นขอบฟ้าของเมืองและอยู่ในใจของชาวนิวยอร์ก มันกลายเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน งานเลี้ยงสังสรรค์ และจุดชมทิวทัศน์ของมหานคร ในไม่ช้าร้านขายของที่ระลึกก็ได้ประโยชน์จากมันเหมือนกัน จากการขายเสื้อยืด แก้วน้ำ หมวกที่มีรูปตึกแฝด นอกเหนือจากเทพีเสรีภาพและตึกเอ็มไพร์สเตท
มิโนรุ ยามาซากิ สถาปนิกผู้กลัวความสูง เสียชีวิตในอีก 8 ปีหลังจากเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์แล้วเสร็จ และเกือบ 30 ปีต่อมาทั้งสองอาคารก็กลบฝังชีวิตผู้คนกว่าสองพันคนจากเหตุการณ์ก่อการร้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นิวยอร์กเกิด 'อาชญากรรมชังเอเชีย' มากเป็นสถิติ
สำนักงานอัยการนิวยอร์กระบุว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีคดีที่เกิดจากความเกลียดชังต่อต้านชาวเอเชียจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่หน่วยต่อต้านอาชญากรรมจากความเกลียดชังก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553