สภาผู้แทนราษฏรมาเลเซียผ่านร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตภาคบังคับ สร้างความยินดีให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนกับก้าวย่างสำคัญที่อาจส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สภาพการประชุมภายในรัฐสภาของมาเลเซีย (Photo by NAZRI RAPAAI / DEPARTMENT OF INFORMATION / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2566 กล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของมาเลเซียร่วมลงมติอนุมัติร่างกฏหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตภาคบังคับในประเทศ ถือเป็นก้าวย่างทางสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญที่อาจส่งผลทางอ้อมต่อกฏหมายลงโทษประหารชีวิตของรัฐอื่นๆในอาเซียน
เดิมที การตัดสินความผิดหลายกรณี เช่น การฆาตกรรมและการค้ายาเสพติด จะมีบทลงโทษประหารชีวิตโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้พิพากษาไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาโทษทางคดีด้วยตนเอง
แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นการยกเลิกการตัดสินโทษประหารชีวิต แต่ให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาได้มีทางเลือกในการบังคับใช้โทษจำคุกที่ยาวนานระหว่าง 30- 40 ปีภายใต้เงื่อนไขบางประการ ทดแทนการประหารชีวิตเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ มาเลเซียมีนโยบายระงับการประหารชีวิตในทางปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ศาลยังคงพิจารณาโทษตามกฏหมายเดิม หากเป็นโทษประหาร นักโทษก็จะถูกส่งไปยังแดนประหารจริงๆ
แม้ร่างกฏหมายฉบับนี้จะยังคงต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาเพื่อลงมติอีกรอบก่อนประกาศใช้ แต่คาดว่าจะผ่านไปได้โดยไม่มีเสียงคัดค้าน
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย เรียกการลงมติล่าสุดนี้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับมาเลเซีย และหวังว่าจะเพิ่มแรงกดดันให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ปฏิบัติตาม
"นี่เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่จะทำให้เกิดการสนทนาอย่างจริงจังในห้องประชุมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น" เขากล่าวกับเอเอฟพี โดยอ้างถึงกลุ่มสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ
"มาเลเซียควรแสดงความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้วยการกระตุ้นให้รัฐบาลอื่นๆ ในอาเซียนคิดใหม่ว่าไม่ควรใช้โทษประหารชีวิตอีกต่อไป โดยเริ่มจากสิงคโปร์ซึ่งเพิ่งใช้โทษประหารชีวิตเมื่อเร็วๆนี้" โรเบิร์ตสันกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์พิพากษาโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอนักโทษ 11 ราย จากฐานความผิดในคดียาเสพติด
รัฐบาลทหารของเมียนมาเองก็เพิ่งกลับมาใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้งหลังจากหยุดชั่วคราวมานานหลายทศวรรษ
ขณะที่กัมพูชาและฟิลิปปินส์เป็นเพียงสองชาติสมาชิกอาเซียนที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สธ.โวพร้อมยกระดับบริการตามข้อเสนอแนะอาเซียน
สธ.พร้อมยกระดับและส่งเสริมการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพ สร้างการเข้าถึงระบบการให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ตามข้อเสนอแนะอาเซียน