WHOชี้โอไมครอนเสี่ยงสูงระบาดทั่วโลก ญี่ปุ่นกลัวหนักสั่งปิดประเทศ

องค์การอนามัยโลกเตือน "โอไมครอน" มีโอกาสแพร่กระจายระหว่างประเทศ ก่อความเสี่ยง "สูงมาก" ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อบางพื้นที่โดยเฉพาะประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนต่ำ แคนาดา-เดนมาร์กพบผู้ติดเชื้อด้วย ญี่ปุ่นกลัวหนักปิดประเทศห้ามชาวต่างชาติเข้าตามอย่างอิสราเอล

Getty Images

รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีกล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) มีคำเตือนเมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยระบุว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนามหลายตำแหน่งมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

"ความเสี่ยงทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ที่น่ากังวลสายพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการประเมินว่าสูงมาก" ดับเบิลยูเอชโอเตือน พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก 194 ประเทศ เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง, คาดหมายจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้น และเตรียมพร้อมแผนบรรเทาเพื่อรักษาบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

ดับเบิลยูเอชโอกล่าวว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวโยงกับโอไมครอน แต่ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อประเมินศักยภาพของไวรัสสายพันธุ์นี้ในการหลบหนีการป้องกันจากการฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทานหรือภูมิต้านทานที่เกิดหลังการติดเชื้อ

อย่างไรก็ดี หากโอไมครอนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้อันตรายหรือร้ายแรงถึงชีวิตเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ แต่ถ้าไวรัสนี้แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น ก็จะเพิ่มแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข และอาจนำไปสู่การป่วยและการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนต่ำ

องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานจากแอฟริกาใต้เรื่องการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์นี้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นับแต่นั้นไวรัสนี้ได้แพร่ไปแล้วในหลายประเทศ ล่าสุดรัฐบาลแคนาดาประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่าพบผู้ติดเชื้อ 2 รายเป็นผู้ที่เดินทางมาจากไนจีเรีย ส่วนเดนมาร์กยืนยันว่า พบผู้โดยสารในเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้ 2 คนติดเชื้อ ขณะที่บอตสวานา ประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่นอกภูมิภาคแอฟริกาใต้ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโอไมครอน กล่าวในวันอาทิตย์ว่า พบผู้ติดเชื้อแล้ว 19 คน รวมถึง 4 คนที่รายงานไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน

ถึงขณะนี้ประเทศที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้วได้แก่ แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย, เบลเยียม, บอตสวานา, อังกฤษ, แคนาดา, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิสราเอล, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงของจีน

หลายประเทศประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางจากประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ ทั้งการห้ามเดินทางเข้าและระงับเที่ยวบิน แต่อิสราเอลเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการเข้มข้นที่สุด โดยห้ามชาวต่างชาติทั้งหมดเดินทางเข้าประเทศเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันอาทิตย์ และในวันจันทร์ ญี่ปุ่นก็ประกาศใช้มาตรการในแบบเดียวกัน

นายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะปิดพรมแดนไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศตั้งแต่วันอังคาร มาตรการนี้เป็นมาตรการพิเศษที่ใช้ชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย จนกว่าจะมีข้อมูลชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับโอไมครอน คำประกาศของเขาไม่ได้กล่าวว่าจะปิดประเทศนานเท่าใด แต่ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางกลับจากประเทศที่ระบุไว้จะต้องถูกกักตัวในสถานที่ที่กำหนด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' บี้ถอดบทเรียนบัสมรณะ เร่งสร้างจิตสำนึกคนขับ-เข้มใช้กม.

'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' ชี้รายงานWHO ไทยครองอันดับ 1 อาเซียน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 9 ของโลก สาเหตุหลักคนขับรถประมาท แนะรัฐบาลถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมบัสมรณะ

เปิดผลสอบ 'ฝีดาษลิง' ธรรมชาติรังสรรค์ หรือมนุษย์ประดิษฐ์!

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การสอบสวนฝีดาษลิงธรรมชาติสร้างสรรค์หรือมนุษย์ประดิษฐ์"

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้