รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยแผนควบคุมการส่งออกสินค้า 23 รายการที่ใช้ทำเซมิคอนดักเตอร์ ตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ประเทศต่างๆ จำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีน
โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น (Photo by Kazuhiro NOGI / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนควบคุมการส่งออกสินค้า 23 รายการซึ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปเซ็ต คาดดำเนินการตามนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการจำกัดการคุกคามด้านความมั่นคงทางเทคโนโลยีของจีน
ความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นถูกโจมตีทันทีโดยรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งเตือนว่าอย่าทำการค้าให้เป็นเครื่องมือและอาวุธทางการเมือง
"การทำการค้าให้เป็นประเด็นทางการเมืองกำลังทำลายเสถียรภาพของการผลิตและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ด้วยการกระทำเช่นนี้ พวกเขากำลังทำร้ายผู้อื่น แต่พวกเขาก็กำลังทำร้ายตัวเองในเวลาเดียวกัน" เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน วิจารณ์ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลโตเกียว
ทั้งนี้ รัฐบาลโตเกียวเพิ่งยืนยันกำหนดการเดินทางของโยชิมาสะ ฮายาชิในการเยือนปักกิ่งสุดสัปดาห์นี้ โดยเขาจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางเยือนจีนในรอบกว่า 3 ปี
ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก จีนและญี่ปุ่นจึงถือเป็นคู่ค้าสำคัญระหว่างกัน แต่ความสัมพันธ์ทางการทูตกลับตึงเครียดตลอดในช่วงหลัง โดยรัฐบาลโตเกียวมีทีท่าระมัดระวังอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลปักกิ่ง
นอกจากนี้ ทั้งสองชาติยังถูกแบ่งแยกด้วยแนวทางต่อความขัดแย้งในยูเครน โดยญี่ปุ่นหนุนหลังยูเครน และจีนวางตัวข้างรัสเซีย
การประกาศควบคุมการส่งออกของญี่ปุ่นเกิดขึ้นตามหลังความเคลื่อนไหวของเนเธอร์แลนด์ที่ใช้มาตรการคล้ายกัน โดยอ้างถึงความมั่นคงระหว่างประเทศและระดับชาติ
ฟากฝั่งชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ได้เแสดงความกังวลกี่ยวกับการจัดหาส่วนประกอบหลักในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่จีนซึ่งกลายเป็นปรปักษ์กันมากขึ้นในระยะหลัง
และแม้ว่าเนเธอร์แลนด์จะไม่ได้อ้างถึงจีนโดยเฉพาะในการประกาศข้อจำกัด แต่รัฐบาลปักกิ่งก็ออกมาตำหนิความเคลื่อนไหวดังกล่าวเช่นกัน
ขณะที่ญี่ปุ่นก็ปฏิเสธที่จะระบุเฉพาะเจาะจงว่าแผนควบคุมดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่ประเทศ โดยยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกล่าวว่า ข้อจำกัดเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเบี่ยงเบนด้านเทคโนโลยีทางทหาร
"ญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศ ในฐานะประเทศที่มีเทคโนโลยีชิปหน่วยความจำขั้นสูง" นิชิมูระกล่าวเสริม
ถึงกระนั้น รัฐบาลวอชิงตันก็ชัดเจนว่าต้องการเห็นประเทศพันธมิตรเข้าร่วม เพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีน
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกที่มีเป้าหมายจำกัดความสามารถของจีนในการซื้อและผลิตชิประดับไฮเอนด์เพื่อนำไปใช้งานทางทหาร
หลังจากนี้ กระทรวงการค้าของญี่ปุ่นจะขอความเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
มีรายงานว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ประมาณ 10 แห่งรวมถึง Tokyo Electron และ Nikon จะได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่นี้.