
ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมพระราชินีคามิลลาเสด็จเยือนประเทศเยอรมนี ปรากฏมีคำแนะนำเกี่ยวกับข้อปฏิบัติสำหรับผู้เข้าเฝ้ารับเสด็จ เผยแพร่จากสำนักราชวังบักกิงแฮม
นับเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งแรกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในฐานะกษัตริย์องค์ประมุขของสหราชอาณาจักร พระองค์และพระมเหสีเสด็จถึงกรุงเบอร์ลินเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และทรงประทับอยู่ในเยอรมนีเป็นเวลาสามวัน โปรแกรมการเสด็จเยือนของทั้งสองพระองค์ค่อนข้างแน่น และเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้เข้าเฝ้าหลายครั้ง จนเกิดเป็นคำถามขึ้นแม้แต่ในหมู่ชาวเยอรมันเองว่า จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีโอกาสพบเจอพระราชาและพระราชินี?
เรื่องนี้สำนักราชวังในลอนดอนให้ข้อมูลว่า ความจริงแล้วไม่มีกฎข้อบังคับใดๆ เมื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์หรือสมาชิกราชวงศ์ แต่หลายคนต้องการถือปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมอยู่ ซึ่งในเว็บไซต์ของราชสำนักมีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้
สำหรับบุรุษ เมื่อเข้าเฝ้าแบบประชิดพระองค์ให้ก้มศีรษะคำนับ ส่วนสุภาพสตรีให้ย่อเข่าเพียงเล็กน้อย และควรทำเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ต้องยืดเยื้อดรามา จากนั้นก็จับมือกันตามปกติ
เมื่อมีการพูดคุยกับพระองค์ ในการพบปะกันครั้งแรกให้เรียกพระองค์ “Your Majesty” บทสนทนาต่อจากนั้นก็ให้ใช้คำว่า “Sir” แทนตัวพระองค์ ส่วนพระราชินีให้ใช้คำเรียก “Your Majesty” ในเบื้องต้นเช่นกัน หลังจากนั้นให้เรียก “Ma’am”
เวลาอยู่ใกล้ชิดพระองค์ การสัมผัสพระวรกายเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรแสดงความเป็นมิตรถึงขั้นใช้มือโอบพระอังสา ซึ่งเรื่องไม่งามเช่นนี้เคยเกิดในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อครั้งสตรีหมายเลขหนึ่ง-มิเชลล์ โอบามาเข้าเฝ้า แล้วใช้มือแตะพระอังสาของพระองค์ เกรก เพรสค็อตต์-ผู้รู้สายวังเคยกล่าวกับสื่ออังกฤษถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ยังดีที่พระองค์ทรงแสดงน้ำพระทัย ยื่นพระหัตถ์ที่ทรงถุงพระหัตถ์สีขาวแตะเอวของมิเชลล์ โอบามาตอบกลับ และผู้รู้ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า เวลาเผชิญหน้ากับกษัตริย์หรือสมาชิกราชวงศ์อย่างจังๆ ให้รักษาความสงบไว้ อย่าตัวสั่น
การสนทนากับราชวงศ์ทำได้แต่ไม่ใช่ “ทุกเรื่อง” ควรเป็นหัวข้อที่ไม่มีอะไรขัดแย้งเกินไป กรณีสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นั้นประเด็นเรื่องเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนไม่ควรที่จะนำมาสนทนา ทางที่ดีควรจะรอและปล่อยให้กษัตริย์หรือพระราชินีเป็นฝ่ายตัดสินใจเกี่ยวกับหัวข้อสนทนาเอง
การขอลายเซ็นจากกษัตริย์หรือสมาชิกราชวงศ์ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่สมควรทำ แต่การเซลฟี ซึ่งดูร่วมสมัยกว่านั้นทำได้ ด้วยกริยาที่สุภาพ เรื่องนี้ผู้รู้สายวังเล่าว่า ราชวงศ์ทุกพระองค์ถือเป็นเรื่องที่คุ้นชิน การอยู่ในหมู่ชนจำนวนมากมักมีการถ่ายภาพและเซลฟีกันเสมอ
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เองก็ทรงเคยปฏิบัติการ ‘Photobombing’ ในงานแข่งขันกีฬาคอมมอนเวลธ์ เกมส์ นั่นคือการทำเซอร์ไพรส์กับการทรงเซลฟีกับนักกีฬา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พ่อนายกฯ' เที่ยวเยาวราชรอบ 19 ปี ปลื้มแฟนคลับแห่ขอเซลฟีแน่น
'ทักษิณ' เที่ยวเยาวราชรอบ 19 ปี กินอาหารร้านโปรดร่วมวงเพื่อนนักธุรกิจ ก่อนเดินเล่น แฟนคลับ-นักท่องเที่ยวแห่เซลฟีแน่น
นายกฯ ฟุ้งบูธไทยงาน ITB Berlin 2025 เสียงตอบรับดี
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ภายหลังเข้าร่วมงาน ITB Berlin 2025 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 3 - 8 มี.ค. โดยนายกฯ แถลงสรุปว่า ได้ไปงาน ITB Berlin 2025 ที่มีหลายประเทศทั่วโลกจัด
นายกฯ หวังยกระดับเยอรมนีเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์!
นายกฯ หารือนายกฯ เยอรมนี กระชับความร่วมมือไทย-เยอรมนีสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
'เศรษฐา' เหยียบเยอรมนีแล้ว
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง