ยูซาฟสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของสกอตแลนด์ ท่ามกลางความขัดแย้งในพรรค

ฮัมซา ยูซาฟ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์ และกลายเป็นผู้นำมุสลิมคนแรกของรัฐบาลในยุโรปตะวันตก แต่ต้องเผชิญกับความไม่สงบในพรรคของตนเอง

ฮัมซา ยูซาฟ ผู้นำคนใหม่ที่ได้รับเลือกจากพรรคชาติสกอต (เอสเอ็นพี) ลงนามในเอกสารเสนอชื่อเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์ ที่รัฐสภาสกอตแลนด์ในเอดินบะระ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม (Photo by Jane Barlow / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 กล่าวว่า รัฐสภาสกอตแลนด์โหวตรับรองให้ฮัมซา ยูซาฟ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้เขากลายเป็นผู้นำมุสลิมคนแรกของชาติในฝั่งตะวันตกของยุโรป

ในวัย 37 ปี ยูซาฟยังเป็นผู้นำที่อายุน้อยที่สุดของพรรคชาติสกอต (เอสเอ็นพี) และได้ให้คำมั่นหลังรับตำแหน่งว่าจะสนับสนุนการรณรงค์นำสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร

แต่หลังจากที่ยูซาฟชนะการแข่งขันเพื่อสืบทอดตำแหน่งของนิโคลา สเตอร์เจียน ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานในวันจันทร์ ความเป็นผู้นำของเขาก็ถูกตั้งคำถามหลังจากคู่แข่งที่พ่ายแพ้อย่างเคท ฟอร์บ ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของเขา

เคท ฟอร์บ ซึ่งเป็นคู่แข่งในการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ และแพ้ไปอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนน 48% ต่อ 52% ถูกยูซาฟเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ แต่ฟอร์บเลือกจะลาออกจากการทำงานการเมืองด้วยเหตุผลส่วนตัว

ถึงแม้ฝั่งพันธมิตรของยูซาฟอ้างว่าเป็นเพราะฟอร์บต้องการอุทิศเวลาให้กับชีวิตครอบครัวมากขึ้นหลังจากเพิ่งคลอดบุตร แต่จากรายงานข่าว บรรดาผู้สนับสนุนของฟอร์บกล่าวว่า เธอรู้สึกไม่พอใจเกี่ยวกับข้อเสนอของยูซาฟ

ฮัมซา ยูซาฟ ร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งต่อหน้าโคลิน ซุทเทอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประธานของศาลสูงสุดแห่งสกอตแลนด์ โดยยูซาฟสาบานว่าจะรับใช้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ด้วยความภักดีและจริงใจ แม้ว่าตัวเขาเองจะสนับสนุนการยกเลิกระบอบราชาธิปไตยเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งประมุขแห่งสกอตแลนด์ก็ตาม

หลังจากนั้น ยูซาฟก็เริ่มงานแรกของเขาด้วยการฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ ต่อสายแสดงความยินดีกับยูซาฟทันทีหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์เปิดเผยว่า ในการพูดคุยกับผู้นำอังกฤษ เขาเรียกร้องให้รัฐบาลลอนดอนยอมรับความปรารถนาประชาธิปไตยของประชาชนและรัฐสภาของสกอตแลนด์.

 

เพิ่มเพื่อน