นายกรัฐมนตรีอิสราเอลประกาศระงับการยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง, การนัดหยุดงานทั่วประเทศ และการเดินประท้วงครั้งใหญ่ที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี
ผู้ประท้วงใช้โทรโข่งระหว่างการชุมนุมในกรุงเทลอาวีฟ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ท่ามกลางการนัดหยุดงานและเดินขบวนประท้วงทั่วอิสราเอล เพื่อต่อต้านการผลักดันกฏหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Photo by GIL COHEN-MAGEN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ประกาศระงับร่างกฏหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่นำความแตกแยกมาสู่ประเทศ
หลังความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตลอด 3 เดือน เนทันยาฮูประกาศผ่านการออกอากาศทางโทรทัศน์ว่า "ด้วยสำนึกในความรับผิดชอบของชาติ และด้วยเจตจำนงที่จะป้องกันการแตกแยกในหมู่ประชาชนของเรา ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจหยุดเดินหน้ากฎหมาย(ปฏิรูปตุลาการ)ฉบับที่ 2 และ 3 เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้มีการอภิปรายและพิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้งในการประชุมรัฐสภาครั้งหน้าซึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน"
ทั้งนี้ การปฏิรูปดังกล่าวถูกตราหน้าว่า เป็นการลดอำนาจของศาลสูงสุดและทำให้นักการเมืองมีอำนาจมากขึ้นในการคัดเลือกผู้พิพากษา และกฏหมายฉบับแรกได้ผ่านสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนนำมาซึ่งความโกลาหลทั่วประเทศในช่วงสุดสัปดาห์
กฏหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของเนทันยาฮู ไม่เป็นที่พอใจของหลายฝ่ายทั้งในรัฐสภาเอง และนอกรัฐสภา แม้แต่ประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซ็อก ของอิสราเอลเองก็เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหยุดเดินหน้ากฏหมายที่มุ่งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วยการให้อำนาจนักการเมืองแต่งตั้งตุลาการได้เอง ขณะที่เนทันยาฮูก็ยังมีคดีความในศาลจากข้อหาคอร์รัปชัน ดังนั้นการปฏิรูปดังกล่าวจึงถูกมองว่ามีนัยแอบแฝง
รวมทั้งโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลของเนทันยาฮูเอง ก็ออกมาคัดค้านประเด็นดังกล่าวจนโดนสั่งปลดออกจากตำแหน่ง และกลายเป็นการเติมเชื้อไฟให้ประชาชนอิสราเอลลุกฮือก่อหวอดประท้วงรุนแรง มีการปิดกั้นถนน, จุดไฟเผายางรถยนต์ ไปจนถึงการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจที่จบลงด้วยการใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูง
ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนได้มารวมตัวชุมนุมใกล้รัฐสภาในกรุงเยรูซาเล็ม หลังประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ ส่งผลให้บริการสาธารณะหลายอย่างเป็นอัมพาต, เที่ยวบินหยุดชะงัก โรงพยาบาลหยุดให้บริการในกรณีไม่ฉุกเฉิน และแม้แต่นักการทูตก็ผละงานเช่นกัน
สื่ออิสราเอลประเมินว่า ผู้ประท้วงมีจำนวนประมาณ 80,000 คนที่เข้าร่วมการชุมนุมในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อต่อต้านแผนการปฏิรูป มีทั้งภาคประชาชนทั่วไป, ภาคแรงงาน และภาคการเมือง โดยบรรดาผู้ประท้วงต่างเล็งเห็นว่าแผนการปฏิรูปเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยของอิสราเอล
แต่ทันทีที่เนทันยาฮูประกาศระงับเดินหน้ากฏหมายดังกล่าวชั่วคราว ฝั่งสหภาพแรงงานก็ยกเลิกการนัดหยุดงานทันที
เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิสราเอล ได้ออกมาแสดงความยินดีที่เนทันยาฮูยอมถอยเพื่อเปิดโอกาสในการเพิ่มเวลาและพื้นที่สำหรับการประนีประนอม
ขณะที่ฝ่ายค้านของอิสราเอลก็พร้อมที่จะร่วมเจรจาหาทางออกให้กับกฏหมายฉบับนี้ โดยจะขอให้ประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซ็อก มาร่วมเป็นคนกลาง
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับกฏหมายปฏิรูปดังกล่าวสร้างความแตกแยกในสังคมจนอาจรุนแรงกลายเป็นสงครามกลางเมือง และตอนนี้ได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยไปแล้ว.