ตั้งแต่ตอนดึกของวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศในยุโรปต้องหมุนเข็มนาฬิกาปรับเวลาให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง เพื่อใช้เวลาฤดูร้อน (ซึ่งจะช้ากว่าเวลาในเมืองไทย 5 ชั่วโมง จากเดิมในช่วงฤดูหนาว 6 ชั่วโมง) ความจริงแล้วประเด็นการปรับเปลี่ยนเวลาเคยเป็นมติเข้ารัฐสภายุโรปไปแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา
ทุกปี ประชากรชาวยุโรปต้องหมุนเข็มนาฬิกาปรับเวลาสองครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคมและตุลาคม เพื่อเข้าสู่ช่วงเวลาของฤดูร้อนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะผู้คนในเยอรมนี มีกลุ่มเฟสบุ๊กซึ่งมีสมาชิกหลายหมื่นคนเรียกร้องให้ยกการปรับเปลี่ยนเวลา ในช่องแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกในทันที ด้วยเหตุผลว่ามันทำการทำงานของร่างกายเสียระบบ ทำให้เกิดสภาวะเหนื่อยหน่าย และอ่อนล้า
ประเด็นยกเลิกการปรับเปลี่ยนเวลาเคยเป็นมติเข้ารัฐสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ปี 2018 อียูเคยจัดทำแบบสำรวจออนไลน์ มีประชากรของอียูจำนวน 28 ประเทศในขณะนั้นราว 4.6 ล้านคนแสดงความเห็น ได้ผลลัพธ์ชัดเจนว่า 84 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้ยุติการปรับเปลี่ยนเวลา ในจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจเป็นชาวเยอรมันถึง 3 ล้านคน
ความเป็นมาดั้งเดิมเริ่มจากปลายศตวรรษที่ 18 เบนจามิน แฟรงคลิน-นักวิทยาศาสตร์และผู้นำสหรัฐฯ เคยเสนอนโยบายประหยัดเทียนไขด้วยวิธีการตื่นนอนและเข้านอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ครั้งนั้นเขาไม่ได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนเวลา แต่ความตั้งใจของเขาคือหัวใจของข้อถกเถียงกันในเวลาต่อมา เพื่อใช้สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเวลาตามฤดูกาล ด้วยข้ออ้างการจับคู่เวลาของกิจกรรมมนุษย์กับแสงแดดที่ได้ประโยชน์ดีกว่า และเพื่อประหยัดพลังงาน-ค่าใช้จ่ายทดแทนการใช้ไฟฟ้า กระทั่งเมื่อทรัพยากรพลังงานเริ่มขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จักรวรรดิเยอรมนีจึงนำแนวคิดในการประหยัดพลังงานด้วย “เวลาฤดูร้อน” มาใช้ในปี 1916 จากนั้นประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปนำไปปฏิบัติตาม จนเมื่อสงครามสิ้นสุดลงหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนไปใช้เวลาปกติ และหวนกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในเยอรมนีเองนั้นยุติการใช้เวลาฤดูร้อนครั้งแรกในปี 1950
ครั้นพอเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้นในปี 1973 การหารือเรื่องที่จะนำ “เวลาฤดูร้อน” กลับมาใช้อีกครั้งก็ผุดขึ้นอีกครั้ง แต่เยอรมนีตะวันออกขณะนั้นให้คำตอบตกลงที่จะร่วมมือกับเยอรมนีตะวันตกในเดือนตุลาคม 1979 เยอรมนีทั้งสองประเทศจึงเริ่มใช้ “เวลาฤดูร้อน” พร้อมกันตั้งแต่ปี 1980 ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเริ่มเปลี่ยนมาปรับเวลาให้ตรงกันตั้งแต่ปี 1996
หลังจากได้คำตอบจากผลสำรวจ ในปี 2018 สมาชิกรัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบร่วมกันที่จะยกเลิกการปรับเปลี่ยนเวลาตั้งแต่ปี 2019 แต่ยังให้อิสระแก่ประเทศสมาชิกที่จะตัดสินใจเลือกได้ว่า จะใช้ “เวลาฤดูร้อนหรือฤดูหนาว” เป็นการถาวรต่อไป ในเดือนมีนาคม 2019 รัฐสภายุโรปรับรองข้อเสนอของคณะกรรมาธิการที่จะยุติการเปลี่ยนนาฬิกาตามฤดูกาลภายในปี 2021 แต่ทว่าจนถึงบัดนี้ ปี 2023 ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนเวลาอยู่เหมือนเดิม
คำตอบของรัฐสภายุโรปคือ ตอนนี้ยังคงขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกว่าจะมีจุดยืนร่วมกันในรัฐสภายุโรปอย่างไร หัวใจของปัญหาอยู่ที่ความเห็นที่ไม่ตรงกันภายในสหภาพยุโรปว่าควรใช้เวลาฤดูร้อน หรือฤดูหนาว เป็นเวลามาตรฐานร่วมกัน รัฐบาลของแต่ละประเทศควรควบคุมเรื่องนี้อย่างไร อีกทั้งบางประเทศในสหภาพยุโรปยังสนับสนุนระบบปรับเปลี่ยนเวลาแบบปัจจุบันอยู่
นอกจากนี้ ปัญหาอื่นๆ ก็ยังเข้ามาแทรกและเบียดบังประเด็นการปรับเปลี่ยนเวลา อย่างเช่น Brexit, การระบาดของโควิด-19 ล่าสุด สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และผลที่ตามมา แผนการเดิมจึงถูกพักไว้ การปรับเปลี่ยนเวลาที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาอาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
และเวลาจะเป็นตัวกำหนดเองว่า ท้ายที่สุดแล้วการปรับเปลี่ยนเวลาจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปฏิกิริยาที่หลากหลายในรัฐสภาสหภาพยุโรปต่อชัยชนะของ 'โดนัลด์ ทรัมป์'
ชัยชนะที่ชัดเจนของโดนัลด์ ทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาผสมปนเปในรัฐสภายุโรป
ไขข้อข้องใจ! ทำไมกินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี…… สนใจมั้ย?
ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน KP.2.3/XEC ลูกผสมพันธุ์ใหม่ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน KP.2.3/XEC : ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า