ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เยือนแคนาดาพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด และกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาของแคนาดา ก่อนแถลงบรรลุข้อตกลงการอพยพย้ายถิ่นฐานผ่านชายแเดน
นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา (ขวา) และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ดื่มอวยพรระหว่างงานกาล่าดินเนอร์ที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแคนาดาในกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม หลังเสร็จสิ้นการพบปะหารือและการปราศรัยในรัฐสภา (Photo by Mandel NGAN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนแคนาดาเพื่อร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด และมีโอกาสได้กล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาของแคนาดาเมื่อวันศุกร์
ไบเดนได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำระดับโลกระหว่างสหรัฐกับแคนาดา และประกาศว่าสองเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ได้บรรลุข้อตกลงในการควบคุมการอพยพย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย
"สหรัฐฯ และแคนาดาจะทำงานร่วมกันเพื่อกีดกันการข้ามพรมแดนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ไบเดนกล่าว ซึ่งข้อตกลงที่อ้างถึงนั้นจะทำให้ผู้ขอลี้ภัยที่ไม่มีเอกสารถูกต้องจะไม่สามารถข้ามดินแดนจากสหรัฐอเมริกาไปยังแคนาดาได้ ในขณะที่แคนาดาจะขยายช่องทางสำหรับการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งนี้ แผนการในข้อตกลงดังกล่าวถูกวิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้อพยพว่าแตกต่างจากการดำเนินการปัญหาพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกอย่างมาก แม้ไบเดนและทรูโดจะอยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองเพื่อบรรเทาระบบตรวจคนเข้าเมืองที่วิกฤตหนักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ผู้นำทั้งสองก็ยังแสดงวิสัยทัศน์ว่า "การต้อนรับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของชาวแคนาดาและชาวอเมริกัน"
"ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้เรียกร้องสิทธิผู้ลี้ภัยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว" จูเลีย แซนเด นักเคลื่อนไหวจากองค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวกับเอเอฟพี และเสริมว่า "มันจะผลักผู้คนไปสู่ทางแยกที่อันตรายมากขึ้นในพื้นที่ห่างไกล หรือแม้กระทั่งพึ่งพาผู้ลักลอบนำเข้า"
นอกจากนี้ ไบเดนยังได้แสดงวิสัยทัศน์ในการสร้างเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีสูงและเสริมห่วงโซ่อุปทานสำหรับสิ่งต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับแคนาดา
ก่อนหน้านี้ ทรูโและไบเดนได้หารือแบบตัวต่อตัวครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายกำลังผลักดันให้มีการปรับปรุง เช่น ประเด็นที่สหรัฐฯต้องการให้แคนาดาเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขึ้นอีก 2% ภายในปี 2569 เพื่อให้บรรลุข้อกำหนดของพันธมิตรนาโตที่ระบุให้มีการใช้จ่ายด้านกลาโหมขั้นต่ำ 2% ของจีดีพี และประเด็นการปรับปรุงความเป็นพันธมิตรป้องกันภัยทางอากาศร่วม (NORAD) ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยแคนาดารับปากจะทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเรดาร์และเครื่องบินขับไล่
ผู้นำทั้งสองยังร่วมยืนยันอีกครั้งถึงการสนับสนุนยูเครนในสงครามเพื่อผลักดันการรุกรานของรัสเซีย และออกคำเตือนไปยังจีน
"แคนาดาและสหรัฐฯ รับทราบถึงความท้าทายระยะยาวอย่างร้ายแรงต่อระเบียบระหว่างประเทศที่เกิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงการกระทำที่ก่อกวน เช่น การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ, นโยบายและการปฏิบัติที่ไม่ใช่ตลาด และการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ถ้อยแถลงระบุ
ในการแถลงข่าวร่วมกับทรูโด ไบเดนกล่าวว่าเขาเชื่อว่าจีนไม่ได้ส่งอาวุธให้รัสเซีย แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ส่ง แค่พวกเขายังไม่ได้ทำ
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลเคียฟอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'จอม' แจ้งข่าวร้าย! แคนาดา ไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยอีกแล้ว
จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ลี้ภัยหนีคดีความมั่นคงในประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ข่าวร้ายสำหรับ