ประธานาธิบดีฝรั่งเศสให้คำมั่นอย่างหนักแน่นว่าจะผลักดันการปฏิรูประบบบำนาญต่อไปจนสุดทาง และพร้อมยอมรับความไม่เป็นที่นิยม
ภาพประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส บนจอโทรทัศน์ระหว่างให้สัมภาษณ์สดทางช่อง TF1 เกี่ยวกับกฏหมายปฏิรูประบบบำนาญ หลังเก็บตัวมาหลายวันท่ามกลางความวุ่นวายต่อเนื่องยาวนานจากการประท้วงไม่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ทั่วฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 มีนาคม (Photo by SEBASTIEN BOZON / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะผ่านการให้สัมภาษณ์สดทางโทรทัศน์กับช่อง TF1 และ France 2 เกี่ยวกับกฏหมายปฏิรูประบบบำนาญเป็นครั้งแรก หลังเก็บตัวมาหลายวันท่ามกลางความวุ่นวายต่อเนื่องยาวนานจากการประท้วงไม่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ทั่วฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรงงาน
มาครงกล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงใดๆนั้นยากเสมอ แต่มันก็จำเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดการเดินหน้า ผมเองก็ไม่มีความสุขและไม่ได้อยากทำ แต่ยิ่งรอนานเท่าไหร่ การขาดดุลก็จะยิ่งแย่ลงเท่านั้น ดังนั้นการปฏิรูปนี้จำเป็นต้องมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี"
มาครง ซึ่งถูกรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน กล่าวเสริมว่า เขาพร้อมที่จะยอมรับความไม่เป็นที่นิยม จากการเดินหน้าปฏิรูปฯ
"หากต้องเลือกระหว่างผลสำรวจความคิดเห็นในระยะสั้นกับผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ผมเลือกผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ" มาครงกล่าวทิ้งท้าย
ผลสำรวจความนิยมล่าสุดในตัวมาครงเมื่อวันอาทิตย์ คะแนนความพึงพอใจในตัวผู้นำฝรั่งเศสเหลือเพียงแค่ 28% เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในปี 2561-2562
เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเอลิซาเบธ บอร์น ใช้เครื่องมือทางรัฐธรรมนูญที่เรียกว่ามาตรา 49.3 เพื่อผลักดันกฎหมายให้ผ่านโดยไม่ต้องลงคะแนนเสียง หลังจากล้มเหลวในการรวบรวมเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พรรคของมาครงสูญเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏรในปี 2565
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลของมาครงรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 รอบในรัฐสภาได้อย่างฉิวเฉียด ซึ่งหมายความว่ากฎหมายที่จะเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี จะมีผลบังคับใช้อย่างไม่เป็นทางการทันที และความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดวิกฤตภายในประเทศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มาครงดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ภายใต้นโยบายปฏิรูปฝรั่งเศส
การปะทะครั้งใหม่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประท้วงและกองกำลังรักษาความมั่นคงในกรุงปารีสเมื่อช่วงดึกของวันอังคาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ รวมทั้งการจับกุมผู้ประท้วงเรื่อยๆจนยอดสะสมแล้วหลายร้อยคน
มีรายงานผู้ถูกจับกุม 46 คนในชั่วข้ามคืนจากการปะทะกันครั้งล่าสุดรอบๆจัตุรัสสาธารณรัฐ (Place de la République) ขณะที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการประท้วงในเมืองอื่นๆ รวมทั้งแรนส์และน็องส์
การนัดหยุดงานของพนักงานเก็บขยะในกรุงปารีสยังคงดำเนินต่อไปพร้อมกองขยะสูงพะเนินทั่วเมือง เช่นเดียวกับการชุมนุมปิดกั้นโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างรุนแรงเร็ววันนี้
ด้านทนายความ, ผู้พิพากษา องค์การนิรโทษกรรมสากล และนักการเมืองบางกลุ่มกล่าวหาว่า ตำรวจทำการจับกุมโดยพลการและใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงเกินกว่าเหตุเพื่อยับยั้งการประท้วง แต่ตำรวจปารีสปฏิเสธประเด็นดังกล่าว
สถานการณ์ตึงเครียดล่าสุดยังก่อให้เกิดความกังวลว่าฝรั่งเศสจะสามารถเป็นเจ้าภาพต้อนรับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ของสหราชอาณาจักรได้หรือไม่เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งแรกในฐานะกษัตริย์ อย่างไรก็ดี มี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านบางรายเห็นว่าการเยือนของกษัตริย์อังกฤษควรถูกยกเลิก เพราะอยากให้รัฐบาลสนใจประชาชนตามท้องถนนมากกว่าการร่วมโต๊ะเสวยกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในพระราชวังแวร์ซายส์.