ว่ากันว่าเงินอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ใครมีความสุข แต่ตามรายงาน World Happiness Report 2023 พบว่า คนฐานะดีส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ “ร่ำรวยความสุข” ติดอันดับต้นๆ ของโลก เรื่องนี้มีหลายปัจจัยที่สะท้อนบทบาทสำคัญ
ฟินแลนด์ ติดโผอันดับหนึ่งของประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุดในโลก ตามรายงาน World Happiness Report 2023 ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับ “วันแห่งความสุขสากล” ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2012 แล้วว่า ให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันแห่งความสุขสากล” โดยตระหนักถึงความสัมพันธ์กันระหว่างความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรโลก ไม่มีผู้คนที่ไหนจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเท่าประชากรในฟินแลนด์ ด้วยเหตุนี้ ฟินแลนด์จึงครองแชมป์เป็นปีที่ 6
จำนวนชั่วโมงของแสงแดดส่องไม่ถูกนับเป็นปัจจัยชี้ขาดความสุขหรือความเป็นอยู่ที่ดี เพราะมิฉะนั้นแล้วประเทศต่างๆ เช่น อิตาลี (อันดับที่ 33) กรีซ (อันดับที่ 58) ตุรเกีย (อันดับที่ 106) หรือแม้กระทั่งประเทศไทย (อันดับที่ 60) ก็คงจะติดอันดับต้นๆ นักวิชาการชาวอเมริกันได้ระบุปัจจัยสำคัญ 6 ประการซึ่งมีบทบาทต่อความสุขของมนุษย์ ได้แก่ รายได้ ความมั่นคงทางสังคม สุขภาพ เสรีภาพ การเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น และการปราศจากคอร์รัปชันในรัฐบาลและเศรษฐกิจ
ดังนั้น หากใครอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในชุมชนประชาธิปไตย สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดี และไม่ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ที่รับผิดชอบสำหรับบริการ เหล่านี้จะทำให้อัตราความสุขของคนนั้นจะสูงขึ้น ประเทศไหนที่สามารถกระจายความรู้สึกแห่งความสุขไปยังประชากรได้มากที่สุด ก็จะมีศักยภาพที่ดีกว่าในการจัดอันดับ อย่างเช่น 10 ประเทศของโลก (คิดจากค่าเฉลี่ยสามปีระหว่าง 2020-2022) ดังนี้
- ฟินแลนด์
- เดนมาร์ก
- ไอซ์แลนด์
- อิสราเอล
- เนเธอร์แลนด์
- สวีเดน
- นอร์เวย์
- สวิตเซอร์แลนด์
- ลักเซมเบิร์ก
- นิวซีแลนด์
แม้แต่วิกฤตโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีผลกระทบต่อความสุขเพียงเล็กน้อย ในช่วงปี 2020 ถึง 2022 ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่าเฉลี่ยทั่วโลกก็ยังสูงพอๆ กับในช่วง 3 ปีก่อนเกิดโรคระบาด หรือสถานการณ์ความมั่นคงที่ย่ำแย่ลงอันเป็นผลมาจากสงครามในยูเครนก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
รัสเซียถูกจัดอันดับอยู่ที่ 70 ส่วนยูเครนคู่กรณีอยู่ที่อันดับ 92 แม้จะมีระดับความทุกข์ยากและความเสียหายในยูเครน แต่การประเมินความสุขชีวิตของเดือนกันยายนปี 2022 ยังคงสูงกว่าเมื่อช่วงผนวกแหลมไครเมียเข้ากับรัสเซียเมื่อปี 2014 สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวยูเครน และความเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีที่แข็งแกร่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในรัฐบาลรัสเซียของปี 2022 ก็เติบโตขึ้นไม่แพ้กัน
ส่วนประเทศที่รั้งอันดับท้ายๆ อย่างเลบานอน (อันดับที่ 136) และอัฟกานิสถาน (อันดับที่ 137) น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคและความขาดแคลนอะไรหลายอย่างที่เป็นปัจจัยในการคำนวณ “ความสุข”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนแนะ สร้าง Ecosystem ด้านสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลาง Medical Hub ของอาเซียน
ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการพัฒนา Ecosystem ด้านสุขภาพที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ