อิรัก : 20 ปีหลังจากการรุกรานของสหรัฐอเมริกา

AFP

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาปรารถนาจะก่อร่างสร้างอิรักให้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบอย่างสำหรับตะวันออกกลาง แต่ความคาดหวังนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง ภายหลังการรุกรานของอเมริกา ประเทศอิรักกลับเข้าสู่ความโกลาหลและความรุนแรง ชาวอิรักบางคนถึงกับถวิลหา อยากได้ซัดดัม ฮุสเซนกลับคืน

แผนปฏิบัติการ ‘Iraqi Freedom’ เริ่มขึ้นในตอนเช้ามืดของวันที่ 20 มีนาคม 2003 ระเบิดลูกแรกหล่นลงในกรุงแบกแดด ในขณะที่กองทัพของอเมริกาและอังกฤษรุกคืบเข้าสู่ดินแดนของอิรัก หลังจากมีการสู้รบกันอย่างดุเดือด ภายในสามสัปดาห์กองทหารอเมริกันก็เข้าควบคุมกรุงแบกแดดได้อย่างเบ็ดเสร็จ ภาพถ่ายทหารอเมริกันกำลังกระชากรูปปั้นของซัดดัม ฮุสเซนออกจากแทนบนจัตุรัสฟีร์โดสกลายเป็นสัญลักษณ์ความพ่ายแพ้ของอำนาจเผด็จการ

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศ ‘Mission accomplished’ – ปฏิบัติการสำเร็จลุล่วงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2003 ที่แท่นปราศรัยบนเรือบรรทุกเครื่องบินรบ ซัดดัมถูกโค่นล้มแล้วก็จริง แต่นั่นก็กลายเป็นชนวนให้เกิดจลาจล โดยฝ่ายซุนนี-ซึ่งพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง-พากันก่อตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งของฝ่ายชีอะห์ก็จับอาวุธต่อต้านการยึดครองของทหารอเมริกัน

พอล เบรเมอร์-นักการทูตชาวอเมริกันได้รรับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารกองทัพ ในการปฏิบัติราชการครั้งแรกเขาสั่งปลดสมาชิกพรรค Ba’ath ของซัดดัม ฮุสเซนออกจากงานราชการและยุบกองทัพอิรัก ซึ่งนับเป็นข้อผิดพลาดร้ายแรง จลาจลในอิรักไม่ได้คลี่คลาย แต่กลับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น กลางเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้นมีการโจมตีด้วยระเบิดที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในกรุงแบกแดด และคร่าชีวิต แซร์จิโอ วิเอรา เดอ เมลโล-ทูตพิเศษของสหประชาชาติ รวมทั้งคนอื่นๆ อีก 21 คน สืบทราบในภายหลังว่า อาบู มูซาบ อัล-ซาร์กาวี-ผู้นำของอัลกออิดะห์ในเวลาต่อมา เป็นผู้สั่งการลอบสังหารในครั้งนั้น  

24 เมษายน 2004 สถานีโทรทัศน์ CBS เผยแพร่ภาพของ อาบู กราอิบ-นักโทษในค่ายทหาร ในสภาพเปลือยกาย กำลังถูกทหารทรมาน เป็นภาพที่ช็อกคนทั้งโลก ต่อมามีรายละเอียดเกี่ยวกับการทรมานนักโทษอย่างเป็นระบบของทหารอเมริกันเปิดเผยออกมาเรื่อยๆ ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน รัฐบาลทหารภายใต้ความรับผิดชอบของพอล เบรเมอร์ได้ส่งมอบอำนาจควบคุมประเทศให้กับ อายาด อัลลาวี เพื่อตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของอิรัก และรับผิดชอบในการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2005

การเลือกตั้งเสรีครั้งแรกของอิรักในรอบ 50 ปี ผลปรากฏว่าพันธมิตรของพรรคชีอะห์ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก และหลังจากการเจรจาต่อรองกันเป็นเวลานาน รัฐบาลชั่วคราวภายใต้การนำของ อิบราฮิม อัล-จาฟารี ก็สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2005 และเข้าไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยสำหรับอิรัก

อย่างไรก็ตาม กองกำลังยึดครองของสหรัฐอเมริกาก็ยังคงปักหลักอยู่ในอิรักไปจนถึงปี 2011 นับถึงเวลานั้นชนชั้นนำทางการเมืองของอิรักก็ยังล้มเหลวในการสร้างหลักนิติธรรม รวมทั้งยังล้มเหลวในการทำให้เศรษฐกิจมีความหลากหลาย มิหนำซ้ำยังมักหาข้อแก้ตัวสำหรับเรื่องนี้เสมอ อันดับแรกคือ สงครามนิกาย จากนั้นยังมีเรื่องการสู้รบกับกลุ่มไอเอส ซึ่งจนถึงปี 2014 สามารถยึดครองดินแดนได้ถึงหนึ่งในสามของประเทศ โดยที่นักการเมืองไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตามใช้หนี้ 'ซัดดัม' อิรักจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามงวดสุดท้ายให้คูเวต

ผ่านมากว่า 30 ปี รัฐบาลอิรักจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามงวดสุดท้ายแก่คูเวตเป็นที่เรียบร้อย เพื่อชดเชยที่กองทัพของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน รุกรานคูเวตจุดชนวนสงครามอ่าวเมื่อปี 2533 รวมเป็นเงินชดเชย 1.75 ล้านล้านบาท