ยูเอ็นหนุนเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาเดินทางไปบังกลาเทศ เพื่อเจรจาส่งกลับชาวโรฮีนจา

สหประชาชาติอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลเมียนมาเดินทางไปบังกลาเทศ เพื่อพูดคุยเรื่องการส่งตัวชาวโรฮีนจากลับประเทศ

ครอบครัวชาวโรฮีนจาซึ่งลี้ภัยและพักอาศัยชั่วคราวอยู่ในประเทศบังกลาเทศ ท่ามกลางความหวังว่าจะได้กลับคืนประเทศเมียนมาด้วยความช่วยเหลือของสหประชาชาติ (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 กล่าวว่า หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลทหารของเมียนมาเดินทางไปบังกลาเทศในสัปดาห์นี้ เพื่อพูดคุยเรื่องการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากลับประเทศ

บังกลาเทศเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของชาวโรฮีนจากว่า 1 ล้านคน โดยส่วนใหญ่หลบหนีออกจากเมียนมาซึ่งมีพรมแดนติดกัน หลังถูกปราบปรามอย่างหนักจากทหารในปี 2560 และเป็นคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การสอบสวนของสหประชาชาติในปัจจุบัน

ทีมงาน 17 คนซึ่งนำโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของเมียนมา ได้เดินทางถึงเมืองเทคนาฟเพื่อสัมภาษณ์กลุ่มผู้ลี้ภัยที่อาจถูกส่งตัวกลับประเทศ

เทคนาฟเป็นเมืองชายแดนของบังกลาเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา โดยมีเพียงแม่น้ำนาฟกั้นกลาง

โฆษกของหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในเมียนมาบอกกับเอเอฟพีว่า หน่วยงานฯได้อำนวยความสะดวกในการขนส่งเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งไปยังบังกลาเทศ เพื่อสนับสนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและบรรดาผู้ลี้ภัย

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหประชาชาติในบังกลาเทศกล่าวว่า การขนส่งได้รับการอำนวยความสะดวกจากทั้งหน่วยงานผู้ลี้ภัยฯและโครงการอาหารโลกในเมียนมา ซึ่งจัดหาเรือให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเดินทางเข้าบังกลาเทศ

ชาวโรฮีนจาในเมียนมาถูกมองว่าเป็นผู้สอดแนมจากบังกลาเทศ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ชาวโรฮีนจาบางส่วนที่ยังคงอยู่ในเมียนมาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษา และขาดอิสรภาพในการเดินทาง

โฆษกของหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า การสนับสนุนครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ขอบเขตของบันทึกความเข้าใจที่ไม่มีผลผูกพันซึ่งเมียนมาได้ลงนามในปี 2561 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากลับประเทศโดยสมัครใจ, ปลอดภัย, มีศักดิ์ศรี และยั่งยืน แต่ยูเอ็นจะมีบทบาทด้านการสนับสนุนเท่านั้น โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการพูดคุยในบังกลาเทศ

คณะเจ้าหน้าที่จากเมียนมามีแผนที่จะพูดคุยกับชาวโรฮีนจากว่า 700 คน เพื่อประเมินความเหมาะสมในการเดินทางกลับประเทศ 

แผนการส่งกลับประเทศที่ตกลงกันระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศในปี 2560 ล้มเหลวในการสร้างความคืบหน้าที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลว่าชาวโรฮีนจาจะไม่ปลอดภัยหากพวกเขาเดินทางกลับ

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของแผนดังกล่าวหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิงระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และหลังจากที่ทหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาในปี 2564.

เพิ่มเพื่อน