ศาลอาญาระหว่างประเทศประกาศหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเมื่อวันศุกร์ ด้วยข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามและกรณีลักพาตัวเด็กยูเครนอย่างผิดกฎหมาย
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับในฐานะอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม (Photo by Mikhail METZEL / SPUTNIK / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 กล่าวว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในฐานะอาชญากรสงครามกรณีสั่งการรุนรานประเทศยูเครน รวมทั้งกรณีสั่งการให้พาตัวเด็กในยูเครนไปยังประเทศรัสเซียอย่างผิดกฏหมาย
นอกจากนี้ ศาลฯยังออกหมายจับมาเรีย โลววา-เบโลวา กรรมาธิการสิทธิเด็กประจำสำนักงานประธานาธิบดีรัสเซีย ด้วยข้อหาเดียวกัน
หมายจับดังกล่าวถูกประกาศเกือบจะทันที หลังจากผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติระบุว่า การบังคับย้ายและเนรเทศเด็กยูเครนไปยังพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม
รัฐบาลมอสโกปฏิเสธความเคลื่อนไหวดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า การชี้มูลความผิดต่อผู้นำรัสเซียเป็นโมฆะ เพราะประเทศรัสเซียไม่ได้เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการฟ้องข้อกล่าวหาและดำเนินคดี
ขณะที่ยูเครนประกาศยินดีต่อความเคลื่อนไหวของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ยกย่องว่าเป็น "การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์" เช่นเดียวกับพันธมิตรตะวันตกของยูเครนอย่างสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, สหภาพยุโรป และองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นยกย่องการกระทำของศาลฯ
ทั้งนี้ เด็กยูเครนมากกว่า 16,000 คนถูกนำตัวไปยังรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ตามการระบุของรัฐบาลเคียฟ โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์และบ้านอุปถัมภ์
คาริม ข่าน อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ บอกกับเอเอฟพีว่า ปูตินต้องถูกจับกุม หากเขาก้าวเข้าสู่เขตศาลใดก็ตามในบรรดา 120 ประเทศสมาชิกภาคี และเสริมว่า การประกาศหมายจับได้รับการพิจารณาตามหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์, การตรวจสอบข้อเท็จจริง และสิ่งที่บุคคลทั้งสอง (ปูตินและมาเรีย โลววา-เบโลวา) เคยกล่าวไว้
"หลักฐานที่เรานำเสนอมุ่งเน้นไปที่การก่ออาชญากรรมต่อเด็ก ซึ่งเด็กเป็นส่วนที่เปราะบางที่สุดในสังคม" ข่านกล่าว
อัยการข่านเริ่มการสอบสวนข้อกล่าวหาอาชญากรสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในยูเครน ตั้งแต่ช่วงต้นที่รัสเซียบุกยูเครน
อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการจับกุมด้วยตนเอง ดังนั้นการดำเนินการตามหมายจับจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างประเทศของบรรดาสมาชิกภาคี
การออกหมายจับปูติน ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นก้าวย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 เป็นศาลที่พึ่งสุดท้ายสำหรับอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดในโลก เมื่อประเทศต่างๆ ไม่สามารถหรือจะไม่ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา
ฟากฝั่งรัสเซียโดยดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า "รัสเซียก็เป็นเหมือนกับอีกหลายประเทศ ที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศ ดังนั้นจากมุมมองทางกฎหมาย คำตัดสินของศาลนี้ถือเป็นโมฆะ"
ขณะที่อดีตประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย ก็ได้เปรียบเปรยหมายจับดังกล่าวว่าเป็นแค่กระดาษชำระ และมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ก็ย้ำว่า หมายจับเหล่านี้ไม่มีความหมายสำหรับรัสเซีย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีทำเซอร์ไพรส์ ไปเยือนยูเครนแบบฉุกละหุก
นี่เป็นการเยือนครั้งที่สองของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มสงครามในยูเครน และเป็นการเดินทางเยือนที่ทำให้เกิดคำถาม