รัฐบาลฝรั่งเศสยัดเยียดการปฏิรูประบบบำนาญที่เป็นข้อขัดแย้งผ่านรัฐสภาโดยไม่มีการลงคะแนน ก่อให้เกิดการประท้วงอย่างดุเดือดในกรุงปารีสและอีกหลายเมือง ตลอดจนความโกลาหลในสภานิติบัญญัติ
ผู้ประท้วงชาวฝรั่งเศสรวมตัวกันที่จัตุรัสคองคอร์ด หลังจากรัฐบาลฝรั่งเศสใช้มาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญในการผลักดันการปฏิรูประบบบำนาญผ่านรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ ณ อาคารรัฐสภาในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 มีนาคม (Photo by Thomas SAMSON / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2566 กล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการลงคะแนนเสียง เท่ากับเป็นการยอมรับว่าเสียงข้างมากในสภาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี
วุฒิสภาฝรั่งเศสได้ลงมติรับร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่การที่พรรคฝ่ายค้านไม่ยินดีกับการเข้าข้างมาครง ทำให้รัฐบาลประสบความพ่ายแพ้ในสถาผู้แทนราษฏร (สภาล่าง)
ประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันที่หน้าอาคารรัฐสภาในจัตุรัสคองคอร์ดใจกลางกรุงปารีส โดยมีตำรวจปราบจลาจลคอยควบคุมสถานการณ์คุกรุ่นของผู้คนที่โกรธเคืองกับการยัดเยียดกฏหมายโดยไม่ผ่านการลงคะแนนเสียงและไม่จัดทำประชามติ
เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (02.00 น. ตามเวลาประเทศไทยในวันศุกร์) ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงในการผลักดันผู้ประท้วงออกนอกพื้นที่รัฐสภา หลังจากกลุ่มคนเหล่านั้นเริ่มใช้ความรุนแรงและมีการจุดไฟเผาสิ่งของกลางจัตุรัสอันเก่าแก่
"มีผู้ถูกจับกุมราว 120 คนในข้อหาพยายามสร้างความเสียหาย" ตำรวจปารีสระบุ
ขณะที่ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า หลังการชุมนุมยุติลง ผู้ประท้วงบางคนยังคงสร้างความวุ่นวายด้วยการจุดไฟเผาและสร้างความเสียหายให้กับบรรดาร้านค้าในละแวกนั้น อีกทั้งร้านค้าหลายแห่งยังถูกปล้นระหว่างการประท้วงในเมืองมาร์กเซย์ทางตอนใต้ ส่วนการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงและกองกำลังความมั่นคงเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ อย่างน็องต์และแรนส์เช่นกัน
สหภาพแรงงานและนักวิเคราะห์การเมืองเตือนว่า การใช้มาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญอนุมัติร่างกฎหมายนี้และนำไปบังคับใช้โดยไม่มีการลงคะแนนเสียง เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงของฝ่ายที่คัดค้าน และจะตัดทอนความชอบธรรมของกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความคิดเห็นพบว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของชาวฝรั่งเศสคัดค้านการยกเครื่องระบบบำนาญ
เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายค้านในสภาที่รวมตัวกันยื่นญัตติลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันศุกร์นี้
ด้านสหภาพแรงงานเรียกร้องให้หยุดงานประท้วงและเดินขบวนใหญ่อีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม โดยเรียกความเคลื่อนไหวของรัฐบาลว่า "เป็นการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง"
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองกล่าวกับเอเอฟพีว่า การออกกฎหมายสำคัญเช่นนี้โดยไม่มีการลงมติของรัฐสภา เสี่ยงที่จะทำให้คนในประเทศเป็นปรปักษ์กันมากขึ้น และเพิ่มความรู้สึกต่อต้านมาครงอย่างรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ประชาชนกว่า 80% คัดค้านการออกกฎหมายด้วยวิธีนี้ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากกำลังสูญเสียศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศส.