WHO ประกาศโควิด 'โอไมครอน' เป็น 'สายพันธุ์น่ากังวล'

องค์การอนามัยโลกประกาศว่า ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ B.1.1.529 ที่เพิ่งค้นพบในแอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล และตั้งชื่อเรียกว่า "โอไมครอน" ขณะสหรัฐ, แคนาดาและหลายชาติอาหรับแห่จำกัดการเดินทางจากแอฟริกาใต้ด้วย

รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ออกแถลงการณ์จากนครเจนีวาเมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ประกาศจัดจำแนกไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่เพิ่งพบใหม่นี้เข้าอยู่ในกลุ่ม "สายพันธุ์ที่น่ากังวล" (วีโอซี) โดยอยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดมากที่สุดในโลกขณะนี้ และสายพันธุ์ที่อ่อนกว่า ได้แก่ แอลฟา, บีตา และแกมมา

ดับเบิลยูเอชโอกล่าวว่า คงต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์การศึกษาโอไมครอนจึงจะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อดูว่าไวรัสนี้มีการเปลี่ยนแปลงการส่งผ่านเชื้อ, ความรุนแรงหรือมีนัยต่อวัคซีนป้องกันโควิด, การทดสอบ และการรักษา หรือไม่

คำแถลงกล่าวว่า การติดเชื้อโอไมครอนที่ได้รับการยืนยันครั้งแรกมาจากตัวอย่างที่เก็บเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน และไม่กี่สัปดาห์มานี้ การติดเชื้อในแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกันกับการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์นี้ โดยดูเหมือนว่าพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัดของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

ดับเบิลยูเอชโอชี้ว่า สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมาก และมีบางลักษณะที่น่ากังวล รวมถึงเชื้อนี้อาจแพร่กระจายได้เร็วขึ้น หลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อซ้ำด้วยสายพันธุ์นี้ เปรียบเทียบกับวีโอซีสายพันธุ์อื่นๆ แต่การตรวจหาเชื้อแบบ PCR ที่ใช้กับการตรวจไวรัสโควิดหรือ SARS-CoV-2 ในขณะนี้ยังใช้ตรวจสายพันธุ์นี้ได้

นับแต่นักวิทยาศาสตร์แอฟริกาใต้ประกาศข่าวการตรวจพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่เมื่อวันพฤหัสบดี หลายประเทศรีบประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและห้ามเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้และประเทศเพื่อนบ้านของแอฟริกาใต้ ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกและราคาน้ำมันดิ่งลงด้วยความวิตกถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว

นักระบาดวิทยาเตือนว่า การจำกัดการเดินทางอาจช้าไปแล้วที่จะหยุดยั้งไม่ให้โอไมครอนแพร่เชื้อทั่วโลก นอกจากในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ถึงขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศมาลาวี และพบในนักเดินทางที่เข้าบอตสวานา, ฮ่องกง และเบลเยียม ด้วย

เมื่อวันศุกร์ อังกฤษ, หลายประเทศในสหภาพยุโรป อาทิ เยอรมนี, เช็ก, อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ รวมถึงอีกหลายประเทศ เช่น ไซปรัส, สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางหรืองดเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้และเพื่อนบ้าน 5-7 ประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศกักตัว 10 วันผู้ที่เดินทางเข้ามาจากประเทศแอฟริกาใต้และประเทศในภูมิภาคนั้น ได้แก่ บอตสวานา, เอสวาตินี (สวาซิแลนด์), เลโซโท, นามิเบีย, แซมเบีย, โมซัมบิก, มาลาวี และซิมบับเว

ต่อมา สหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะเริ่มจำกัดการเดินทางจากแอฟริกาใต้และเพื่อนบ้านตั้งแต่วันจันทร์นี้ ส่วนแคนาดาปิดพรมแดนห้ามผู้เดินทางจากประเทศเหล่านี้เข้า นอกจากนี้ ทางการบราซิลและกัวเตมาลาในลาตินอเมริกา และซาอุดีอาระเบีย, จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จากภูมิภาคตะวันออกกลาง ต่างก็ประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางจากแอฟริกาใต้ในรูปแบบต่างๆ กัน ส่วนออสเตรเลียห้ามเที่ยวบินจาก 9 ประเทศในแอฟริกาใต้ เริ่มตั้งแต่วันเสาร์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้

‘หมอธีระ’ ข้องใจตัวเลขโควิด สัปดาห์ก่อนพุ่งอาทิตย์นี้ลดฮวบ ไม่ใช่เรื่องปกติ

สัปดาห์ก่อน ตัวเลขนอนรพ.พุ่งขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านั้นถึง 78% แต่สัปดาห์ล่าสุดนี้ ลดลงฮวบฮาบจากสัปดาห์ก่อนถึง 57.7% ส่วนตัวคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ควรต้อง explore