ผู้ประท้วงในฝรั่งเศสออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่อีกครั้งในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของการประท้วงต่อต้านแผนปฏิรูประบบบำนาญของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง โดยตำรวจคาดว่าจะมีผู้ชุมนุมทั่วประเทศมากถึง 1 ล้านคน
ผู้ประท้วงถือป้ายที่มีข้อความว่า "ตู้เย็นที่ว่างเปล่าเทียบเท่ากับความผิดหวังที่รุนแรง" ต่อหน้ากองขยะที่เผาไหม้อยู่ข้างบริเวณชุมนุม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานทั่วประเทศและการประท้วงเรียกร้องโดยสหภาพแรงงานเกี่ยวกับร่างกฏหมายปฏิรูประบบบำนาญ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม (Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2566 กล่าวว่า สหภาพแรงงานฝรั่งเศสเรียกรวมตัวชุมนุมใหญ่อีกครั้งทั่วประเทศเพื่อคว่ำร่างกฏหมายปฏิรูประบบบำนาญที่ดำเนินการอยู่ในรัฐสภา
กลุ่มผู้ประท้วงหวังว่าพวกเขาจะสามารถบีบบังคับให้มาครงยอมถอย ขณะที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายโดยสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และวุฒิสภา (สภาสูง) พร้อมเดินหน้าไปสู่การลงคะแนนเสียงขั้นสุดท้ายอย่างเร็วที่สุดในเดือนนี้
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มาครงปฏิเสธการเจรจากับตัวแทนจากสหภาพแรงงานถึง 2 ครั้ง เป็นการปิดประตูสำหรับการเปลี่ยนแปลงใดๆที่กลุ่มผู้ประท้วงต้องการ และยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟความรุนแรงให้กับสถานการณ์บนท้องถนน
ฟิลิปป์ มาร์ติเนซ หัวหน้าสหภาพแรงงานซีจีทีของฝรั่งเศส กล่าวว่า "ทั้งๆที่มีผู้คนนับล้านตามท้องถนนและมีการนัดหยุดงานทั่วประเทศ แต่สิ่งที่เราได้รับจากอีกด้านหนึ่งคือความเงียบ ผู้คนสงสัยว่าเราต้องทำอะไรอีกเพื่อให้ได้รับการรับฟัง"
"เนื่องจากประธานาธิบดีมั่นใจในตัวเองมาก เขาอาจจำเป็นต้องปรึกษาประชาชน และการลงประชามติเรื่องการปฏิรูประบบบำนาญจะเป็นทางออก แล้วมาดูกันว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไรหากผู้นำของประเทศนี้ปฏิเสธการเคลื่อนไหวทางสังคม" มาร์ติเนซกล่าวเสริม
หน่วยงานตำรวจกล่าวว่า น่าจะมีประชาชนระหว่าง 800,000 ถึง 1 ล้านคนในการเดินขบวน 230 แห่งทั่วฝรั่งเศส ซึ่งในจำนวนนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นการเดินขบวนในกรุงปารีสมากถึง 100,000 คน โดยเริ่มในเวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย)
หลายภาคส่วนเศรษฐกิจของฝรั่งเศสตกเป็นเป้าของการนัดหยุดงานประท้วงอย่างไม่มีกำหนด รวมถึงภาคการขนส่งทางรถไฟและทางอากาศ, โรงไฟฟ้า, คลังก๊าซธรรมชาติ และงานเทศบาลสุขอนามัย
ขณะเดียวกัน วุฒิสภาฝรั่งเศสกลับมาอภิปรายร่างกฏหมายดังกล่าวอีกครั้งในช่วงเช้าวันเสาร์ โดยวุฒิสมาชิกมีเวลาจนถึงเย็นวันอาทิตย์เพื่อสรุปการอภิปราย จากนั้นคณะกรรมาธิการจะจัดทำร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายอย่างละเอียด ก่อนส่งต่อไปยังรัฐสภาทั้งสองแห่งเพื่อลงคะแนนเสียงครั้งสุดท้าย
หากรัฐบาลของมาครงไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากก่อนการลงคะแนนเสียงชี้ขาด นายกรัฐมนตรีเอลิซาเบธ บอร์น อาจใช้เครื่องมือทางรัฐธรรมนูญที่เรียกว่ามาตรา 49/3 เพื่อผลักดันกฎหมายให้ผ่านโดยไม่ต้องลงคะแนนเสียง
ผลสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์บีเอฟเอ็มทีวีเมื่อวันเสาร์พบว่า ชาวฝรั่งเศส 63% เห็นด้วยกับการประท้วงต่อต้านการปฏิรูป และ 54% เห็นด้วยกับการนัดหยุดงาน
อย่างไรก็ตาม ชาวฝรั่งเศส 78% เชื่อว่า มาครงจะผลักดันกฏหมายปฏิรูประบบบำนาญได้สำเร็จ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มาครง และเนทันยาฮู ปะทะกันหลังเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพถูกโจมตีในเลบานอน
กองทัพอิสราเอลโจมตีฐานที่ตั้งของกองกำลัง ‘หมวกสีฟ้า’ ในเลบานอนหลายครั้ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่ง