อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชัน

อดีตนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ ฐานใช้อำนาจในทางมิชอบในการรับสินบนและฟอกเงิน ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อกล่าวหาว่านำเงินกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจโควิดไปใช้ในทางที่ผิด

มูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย (ขวา) โบกมือให้กับประชาชนที่มาให้กำลังใจ ขณะเดินทางออกจากศาลสูงกัวลาลัมเปอร์ หลังถูกอัยการสั่งฟ้องข้อหาคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม (Photo by Arif Kartono / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 กล่าวว่า มูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรีมาลเซีย ถูกอัยการตั้งข้อหาคอร์รัปชัน และอาจต้องโทษจำคุกหลายสิบปีหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง

ยัสซิน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯเป็นเวลา 17 เดือนระหว่างปี 2563-2564 ในช่วงที่มาเลเซียต่อสู้กับโรคโควิดและตอนนี้เป็นผู้นำแนวร่วมฝ่ายค้านที่ต่อต้านรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ถือเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่ถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชัน ต่อจากอดีตผู้นำนาจิบ ราซัก ซึ่งปัจจุบันถูกจำคุก 12 ปี จากคดีทุจริตคอร์รัปชันกองทุน 1MDB 

มูห์ยิดดิน ยัสซิน วัย 75 ปี ถูกดำเนินคดี 4 ข้อหาฐานใช้ตำแหน่งในทางมิชอบเพื่อรับสินบนมูลค่ารวม 232.5 ล้านริงกิต (ประมาณ 1,800 ล้านบาท) เพื่อใช้บริหารพรรคการเมืองเบอร์ซาตูของเขา โดยสินบนดังกล่าวมาจากบริษัทที่ได้รับสิทธิพิเศษภายใต้โครงการจากกองทุนโควิด และในฐานความผิดนี้ แต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี

นอกจากนี้ มูห์ยิดดิน ยัสซินยังถูกตั้งข้อหาฟอกเงินอีก 2 ข้อหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงิน 195 ล้านริงกิต (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ที่ฝากเข้าบัญชีของพรรคเบอร์ซาตู และในฐานความผิดนี้ แต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

อัยการกล่าวว่า เตรียมตั้งข้อหาฟอกเงินเพิ่มอีก 1 ข้อหา โดยคาดว่าจะยื่นฟ้องยัสซินอีกครั้งในวันจันทร์หน้า

มูห์ยิดดิน ยัสซิน ขึ้นให้การต่อศาลว่า เงินของประชาชนไม่ได้เข้ากระเป๋าตัวเองเลยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมขออุทธรณ์การพิจารณาคดี จากนั้นเขาได้รับการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว แต่ได้รับคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่มูห์ยิดดินถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตของมาเลเซีย (MACC) และถูกจับกุมในเวลาต่อมา

เขาปฏิเสธการกระทำผิดกฎหมายใดๆ และกล่าวหาว่ากลุ่มพันธมิตรที่ปกครองโดยนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม กลั่นแกล้งทางการเมืองเพื่อทำลายชื่อเสียงของตนเองและพรรค ก่อนการเลือกตั้งระดับรัฐในเดือนกรกฎาคม

"ผมและทีมกฎหมายจะทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมในชั้นศาล” มูห์ยิดดิน ยัสซินกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนอย่าหันไปใช้การประท้วงบนท้องถนน

ด้านนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการแทรกแซงใดๆ ในกระบวนการยุติธรรมของมูห์ยิดดิน ยัสซิน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป.ป.ช.ชี้มูลรองอัยการสระบุรี ติดสินบนจนท.ศุลกากร แลกไม่เปิดกระเป๋าบรรจุนอแรด

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนกรณีกล่าวหา

'ชัยชนะ' ย้ำจุดยืน ไม่นิรโทษ 'หมิ่นสถาบัน-คอร์รัปชัน-โกงเลือกตั้ง'

'ชัยชนะ' ค้านล้างผิดคดี 112 ย้ำ 3 จุดยืน ไม่นิรโทษกรรม 'หมิ่นสถาบัน-คอร์รัปชัน-โกงเลือกตั้ง' หนุนเฉพาะคดีชุมนุมการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตย

ครบ 10 ปี คสช. 'พรรคไทยภักดี' ตีแสกหน้า 'รัฐประหารเพียงปลายเหตุ ต้นเหตุคือนักการเมืองโกง'

พรรคไทยภักดี ออกแถลงการณ์ ระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 "รัฐประหารเพียงปลายเหตุ ต้นเหตุคือนักการเมืองโกง ประชาธิปไตยที่ถูกต้องสมบรูณ์ตามหลักการปกครองเท่านั้นจึงจะหยุดรัฐประหารได้แท้จริง" .

โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล